ไข้หวัดนกส่วนใหญ่ไม่ได้แพร่กระจายในสัตว์จำพวกนกที่อยู่ตามธรรมชาติ และยังสามารถแพร่เชื้อไปยังนกที่เลี้ยงในฟาร์ม หรือสัตว์ปีกในครัวเรือน เช่น ไก่ ไก่งวง นกขนาดเล็ก เช่น นกกระทา ที่สำคัญก็คือมนุษย์ก็ตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะสัมผัสกับนกที่ติดเชื้อได้เช่นกัน
เมื่อเร็วๆนี้ ทีมนักวิทยาศาสตร์จากศูนย์วิจัยไวรัสแห่งมหาวิทยาลัยกลาสโกว์ ในสกอตแลนด์ เผยว่าได้ศึกษาเชิงสืบสวนเป็นเวลา 6 ปีเกี่ยวกับยีนในร่างกายมนุษย์ ก็พบว่ายีน BTN3A3 เป็นเกราะป้องกันที่มีประสิทธิภาพในการต่อต้านไวรัสไข้หวัดนกส่วนใหญ่ที่ติดต่อจากนกสู่คน ยีนตัวนี้มีอยู่ในมนุษย์ทุกคน โดยพบได้ในปอดและทางเดินหายใจส่วนบน นักวิจัยตั้งชื่อเล่นยีนดังกล่าวว่า “บี-ฟอร์ซ” (B-force) ซึ่งคาดว่าจะมีการศึกษาจริงโดยทันทีหากพบกรณีของไข้หวัดนกที่นักวิจัยจะสามารถเก็บตัวอย่างนกที่ป่วย ซากสัตว์ หรืออุจจาระ เพื่อค้นหาว่าไวรัสสามารถเอาชนะยีน BTN3A3 ได้หรือไม่ และพิจารณาว่าไวรัสพวกนี้มีแนวโน้มมากหรือน้อยที่จะกระจายเข้าหามนุษย์ ถ้าหากพบว่าไวรัสสามารถเอาชนะยีน BTN3A3 ได้จริง ก็ต้องมาคิดถึงมาตรการที่เข้มงวดกว่านี้เพื่อป้องกัน
การศึกษายังพบว่าไวรัสไข้หวัดนกและไข้หวัดหมูบางชนิดมีการกลายพันธุ์ทางพันธุกรรมที่ช่วยให้หลบหนีการขัดขวางของยีน BTN3A3 จนไปแพร่เชื้อสู่คนได้ นักวิจัยยังระบุว่าราว 50% ของสายพันธุ์ไข้หวัดนกเอชไฟว์เอ็นวัน (H5N1) ที่แพร่ระบาดทั่วโลกจนถึงปี 2566 ยังต้านทานต่อยีน BTN3A3 นี่จึงเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ.