UK Critical Mineral Intelligence Centre (CMIC) ซึ่งเป็นหน่วยงานของสหราชอาณาจักรในการจัดหาแร่และโลหะจำเป็นสำหรับเศรษฐกิจให้สหราชอาณาจักร รายงานว่าจีนมีสัดส่วนในการผลิตแกลเลียมประมาณร้อยละ 94 และผลิตเจอร์เมเนียมประมาณร้อยละ 83 ของโลก ธาตุทั้งสองนี้นำไปใช้ในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ และจอแสดงผล มีบทบาทในการผลิตสารกึ่งตัวนำแบบผสม เพื่อปรับปรุงความเร็วและประสิทธิภาพการส่งข้อมูล

สำคัญสำหรับการผลิตชิป อุปกรณ์สื่อสาร ปรับปรุงความเร็วและประสิทธิภาพการส่งสัญญาณในหน้าจอทีวีและโทรศัพท์มือถือ แผงเซลล์แสงอาทิตย์ และเรดาร์ ควบคุมการผลิตอุปกรณ์การสื่อสารด้วยสายไฟเบอร์ออปติก แว่นตาสำหรับมองกลางคืน การสำรวจอวกาศ ดาวเทียมส่วนใหญ่ต้องใช้พลังงานจากโซลาร์เซลล์ที่ใช้เจอร์เมเนียมเป็นส่วนประกอบ

3 กรกฎาคม 2023 กระทรวงพาณิชย์จีนประกาศควบคุมการส่งออกแร่แกลเลียม เจอร์เมเนียม และสารประกอบทางเคมีที่เกี่ยวข้องเพื่อความมั่นคงของสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยควบคุมตั้งแต่ 1 สิงหาคม 2023 จีนประกาศควบคุมการส่งออกน่าจะมาจากการที่สหรัฐฯพยายามหยุดยั้งพัฒนาการด้านเทคโนโลยีของจีน สหรัฐฯเรียกร้องให้ชาติพันธมิตรควบคุมห่วงโซ่อุปทานที่จะส่งให้กับจีน รัฐบาลของนายไบเดนวางแผนจะห้ามการขายชิปให้จีนที่ใช้ในการดำเนินการเกี่ยวกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ให้จีน

รัฐบาลของชาติพันธมิตรของสหรัฐฯหลายประเทศก็เริ่มห้ามบริษัทสัญชาติของตนขายสินค้าหลายประเภทให้จีน เช่น บริษัท ASML Holding NV ถูกรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศพันธมิตรสหรัฐฯห้ามขายเครื่องยิงชิปให้บริษัทจีน บริษัทจีนเองโดนการกีดกันลักษณะนี้ก็กระทบ เพราะ ASML เป็นบริษัทเดียวในโลกที่มีเครื่องจักรผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่ทันสมัยที่สุด

...

สงครามเทคโนโลยีระหว่างจีนและสหรัฐฯร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ หากจีนและสหรัฐฯงดการค้าขายแร่ที่จำเป็นในอุตสาหกรรมไฮเทค ใครจะบอบช้ำกว่ากัน ผมคิดว่าสหรัฐฯน่าจะบอบช้ำกว่า เพราะจีนเป็นผู้ครอบครองแรร์เอิร์ธหรือแร่หายากที่เป็นกลุ่มแร่ซึ่งใช้ในการผลิตอีวีและอาวุธ ย้อนหลังกลับไปในอดีตเมื่อ 12 ปีที่แล้ว ตอนที่มีปัญหากับญี่ปุ่น จีนก็ลงโทษญี่ปุ่นด้วยการจำกัดการส่งออกแรร์เอิร์ธ ทำให้อุตสาหกรรมไฮเทคของญี่ปุ่นติดกึกติดกัก

ประธานาธิบดีไบเดนให้สัมภาษณ์ว่า สหรัฐฯไม่อยากให้แร่ธาตุสำคัญตกไปอยู่ในมือของบริษัทจีน ซึ่งบั้นปลายท้ายที่สุดจะถูกส่งต่อไปยังกองทัพจีน โดยที่ไบเดนลืมไปว่า จีนก็...มีของ ที่จะใช้โต้ตอบสหรัฐฯเหมือนกัน

การกระดิกพลิกตัวของสหรัฐฯและจีนทำให้ผู้อยู่ในวงการอุตสาหกรรมไฮเทคของโลกเริ่มมีอาการตระหนกตกใจ กลัวการไม่มีวัตถุดิบสำคัญที่จะใช้ในการผลิตสินค้าไฮเทคออกไปสู่มือผู้บริโภค มีอีกประเทศหนึ่งซึ่งมีพรมแดนประชิดติดกับจีน และเป็นประเทศที่มีแร่ธาตุหายากและจำเป็นต่อการผลิตอุปกรณ์ไฮเทคคือรัสเซีย ตะวันออกไกลของรัสเซียเพียงภูมิภาคเดียวก็มีพื้นที่ใหญ่กว่าสหรัฐฯทั้งประเทศ และทั้งภูมิภาคตะวันออกไกลก็เต็มไปด้วยความหลากหลายของแร่ธาตุที่ทั้งสำรวจแล้วบ้าง และยังไม่ได้สำรวจ

สหรัฐฯออกมาตรการมากมายหลายอย่างกีดกันจีน จีนก็โต้ตอบกลับ ผลตามมาคือสหรัฐฯและพันธมิตรมี ‘ของ’ ไปใช้ในอุตสาหกรรมไฮเทคน้อยลง ต้องไปง้องอนขอซื้อจากรัสเซีย ด้วยการทะเลาะเบาะแว้งกันระหว่างรัสเซียกับสหรัฐฯและพันธมิตร ผู้อ่านท่านที่เคารพคงจะจินตนาการออกนะครับ ว่ารัสเซียก็คงจะไม่แฮปปี้ที่จะขายให้สหรัฐฯและพันธมิตรนัก คนที่เสียประโยชน์สูงสุดก็คือชาวโลก แทนที่จะมีชีวิตสะดวกสบายขึ้นจากข้าวของเครื่องใช้และยานพาหนะที่ไฮเทค อาจจะมีประเทศอื่นที่ผลิตได้ แต่ก็จะมีราคาสูงกว่าที่จีนผลิต

รัฐบาลจีนประกาศแล้วว่าอีกไม่กี่ปีข้างหน้า จีนจะไปทำเหมืองแร่บนดวงจันทร์และดาวดวงอื่นเพื่อนำแร่ที่หายากมากๆ หรือแร่ที่ไม่เคยมีบนโลกใบนี้กลับมาใช้ในอุตสาหกรรมไฮเทคของตนเอง การต่อสู้เพื่อครอบครองความเป็นเจ้าโลกไม่เคยจางหายไปจากชาติอภิพญามหาอำนาจทั้งหลาย.

นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com