เหตุชุมนุมประท้วง เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับระบบการเมืองโลกเสรี ตัวอย่างที่เห็นชัด ณ เพลานี้ คือประเทศ “ฝรั่งเศส” ที่เผชิญกับการจลาจลทั่วประเทศตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา
โดยรูปการณ์ไม่ต่างอะไรกับช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย.2548 วัยรุ่นเชื้อชาติอาหรับ 2 คน ผู้ต้องสงสัยคดี “งัดแงะ” ถูกไฟดูดเสียชีวิตระหว่างหลบหนีเจ้าหน้าที่ตำรวจ นำไปสู่เหตุความวุ่นวายนาน 21 วัน และคลี่คลายลงหลังกระแสซาลง ประกอบกับทางการใช้ไม้แข็ง บุกจับ ถึงบ้านและข่มขู่เนรเทศ
มาครั้งนี้ก็เป็นวัยรุ่นเชื้อสายแอลจีเรีย อายุ 17 ปี ถูกตำรวจยิงวิสามัญฆาตกรรม หลังขับรถเช่าละเมิดกฎจราจร เหยียบคันเร่งฝ่าไฟแดงหนีเจ้าหน้าที่ และพยายามขับหนีในขณะถูกตำรวจใช้ปืนจ่อเตือนให้หยุด
ไม่แน่ชัดว่าเหตุจลาจลระลอกใหม่จะสิ้นสุดเมื่อใด แต่ทางการก็เริ่มใช้ความเข้มงวดเป็นลำดับขั้น ส่งหน่วยควบคุมฝูงชนลงถนน ขอความร่วมมือจากบริษัทโซเชียลมีเดียระงับบัญชีที่ช่วยปลุกปั่นการชุมนุม
พร้อมเตือนไปยัง “ผู้ปกครอง” ของเหล่าม็อบรุ่นเยาว์ ว่าหากลูกหลานพบว่ามีความผิดจริง ครอบครัวก็ต้องรับผิดชอบ ย้อนรอยอดีต 18 ปีก่อนที่รัฐเคยดำเนินการ “ตัดรัฐสวัสดิการ” ครอบครัวของผู้ชุมนุม
นักวิชาการหลายฝ่ายเชื่อว่า การใช้มาตรการ เข้มงวดย่อมทำให้ความวุ่นวายคลี่คลาย แต่คำถาม ก็จะตามมาเช่นกันว่า สังคมจะแตกแยกมากขึ้นหรือไม่ โดยเฉพาะประเด็นในเรื่อง “เชื้อชาติ”
ทั้งนี้ มีบทความหนึ่งเขียนไว้น่าสนใจว่า การเข้าเป็นพลเมืองฝรั่งเศสไม่ใช่เรื่องยาก หลักๆ คือ 1.ต้องมีความรู้ภาษาฝรั่งเศส 2.ยึดมั่นอุดมการณ์สาธารณรัฐ แต่สิ่งที่ทำให้ฝรั่งเศสมีความ “ได้เปรียบ” กว่าชาติยุโรปอื่นๆคือ การบีบให้ใช้ภาษาฝรั่งเศส จะใช้ชีวิตอยู่ได้ต้องรู้ภาษาเท่านั้น อ่านไม่ออกพูดไม่ได้...เละสถานเดียว
...
ฝรั่งเศสไม่มีสิ่งมาอำนวยความสะดวกให้ เหมือนกับบางดินแดนที่หน่วยงานราชการต่างๆ จะเตรียมล่ามไว้ให้ มีป้ายบอกทาง ขณะที่ข้อมูล-เอกสารจำเป็นในการใช้ชีวิต มีการแปลภาษาไว้ให้เสร็จสรรพ
ดังนั้น ฝรั่งเศสน่าจะมีแต้มต่อมากกว่า เพราะถึงเชื้อชาติจะต่างกัน แต่ก็ยังด่ากันเป็นภาษา ฝรั่งเศส ต่างคนต่างเข้าใจในท้ายที่สุด...ไม่ เหมือน บางชาติที่สถิติบ่งชี้ว่าบางเขตบางชุมชนพูดภาษาถิ่น คิดเป็นสัดส่วนเพียง 10% ที่เหลือ 90% เลือกที่จะพูดภาษาต่างชาติ ไม่เข้าใจกันอย่างสิ้นเชิง.
ตุ๊ ปากเกร็ด