เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมากระทรวงเกษตรสหรัฐฯ อนุมัติการจำหน่ายเนื้อไก่ที่เกิดจากการเพาะเนื้อเยื่อจากเซลล์สัตว์ในห้องทดลองได้เป็นครั้งแรก เปิดทางให้ผู้บริโภคชาวอเมริกันได้ทดลองลิ้มรสชาติเนื้อสัตว์เทียมด้วยตัวเองเป็นประเทศที่ 2 ตามหลังสิงคโปร์ที่นำร่องมาก่อน เป็นชาติแรกตั้งแต่ปลายปี 2563
ที่ผ่านมาผู้คนทั่วโลกหันมาให้ความสนใจ “อาหารทางเลือก” อย่างเนื้อสัตว์ที่ปลูกในห้องปฏิบัติการ โดยสกัดเซลล์จากสัตว์ที่ให้ผิวสัมผัสและรสชาติเหมือนเนื้อสัตว์แบบดั้งเดิม เชื่อมั่นว่าเป็นผลิตภัณฑ์อาหารแห่งอนาคตที่ดีต่อสุขภาพ ช่วยแก้ปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหารจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากปศุสัตว์ และที่สำคัญยังปกป้องสวัสดิภาพสัตว์ ลดการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
เนื้อไก่สังเคราะห์จากห้องทดลองที่ได้รับการอนุมัติให้จำหน่ายแก่ร้านอาหารและซุปเปอร์มาร์เกตครั้งนี้เป็นผลิตภัณฑ์ของ บริษัทอัพไซด์ ฟู้ดส์ (Upside Foods) และบริษัท กู๊ด มีท (Good Meat) จากรัฐแคลิฟอร์เนีย หลังจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ (USFDA) ประกาศยืนยันว่าผลิตภัณฑ์จากทั้ง 2 บริษัท มีความ “ปลอดภัยต่อการบริโภคของมนุษย์” มาตั้งแต่เดือน พ.ย.2565
ปัจจุบันทั่วโลกมีบริษัทมากกว่า 150 แห่งที่มุ่งมั่นสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์สังเคราะห์จากเซลล์ ไม่เพียงแต่เนื้อไก่เท่านั้น แต่ยังรวมถึงเนื้อหมู เนื้อแกะ ปลา และเนื้อวัว ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ชี้ว่ามีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด อย่างไร ก็ตาม สตาร์ตอัพเหล่านี้ยังต้องเผชิญอุปสรรคและความท้าทายอีกมากก่อนที่สินค้าจะได้รับความนิยมในวงกว้าง เนื่องจากยังมีราคาสูงและยังต้องโน้มน้าวใจผู้บริโภคให้เลือกผลิตภัณฑ์ทางเลือกมากกว่าเนื้อสัตว์จากฟาร์ม
...
ทั้ง 2 บริษัทเผยว่าได้รับคำสั่งซื้อแล้วจากร้านอาหารที่ไม่เปิดเผยชื่อในกรุงวอชิงตันและนครซาน ฟรานซิสโก แน่นอนว่าด้วยกำลังการผลิตที่ไม่สูง มากนัก จึงทำให้ยังเสิร์ฟลูกค้าได้ในปริมาณจำกัด.
อมรดา พงศ์อุทัย