หน่วยยามฝั่งสหรัฐฯ เผย เศษชิ้นส่วนที่พบทำให้เชื่อว่าเรือดำน้ำไททันสูญเสียแรงดันภายในจนตัวเรือถูกแรงดันน้ำบดขยี้ ผู้โดยสารทั้ง 5 คนไม่น่ารอดชีวิต

สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า พลเรือตรี จอห์น มอเกอร์ ผู้บัญชาการหน่วยยามฝั่งเขตที่ 1 ของสหรัฐฯ กล่าวในงานแถลงข่าวที่เมืองบอสตัน เมื่อ 22 มิ.ย. 2566 ตามเวลาท้องถิ่นว่า เมื่อช่วงเช้าพวกเขาพบเศษชิ้นส่วนหางรูปกรวยของเรือดำน้ำไททันที่หายไประหว่างดำน้ำชมซากเรือไททานิกในมหาสมุทรแอตแลนติกตอนเหนือ ในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา

ชิ้นส่วนดังกล่าวเชื่อว่าถูกพบห่างจากซากส่วนหัวเรือไททานิก 1,600 ฟุต จากนั้นเจ้าหน้าที่จึงพบเศษชิ้นส่วนอื่นๆ รวมถึงส่วนปลายแหลมด้านหน้าเรือ, ส่วนนอกของห้องแรงดัน และทุ่งชิ้นส่วน (debris field) ขนาดใหญ่ ซึ่งบ่งชี้ว่าเกิดการสูญเสียแรงดันภายในเรือ พร้อมกล่าวแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของผู้โดยสารทั้ง 5 คน

ขณะที่ นายคาร์ล ฮาร์สฟีลด์ ผู้อำนวยการสถาบันสมุทรศาสตร์ Woods Hole กล่าวในงานแถลงข่าวเดียวกันว่า ซากเรือดำน้ำลำที่พบสอดคล้องกับการเกิด implosion หรือการระเบิดเข้าสู่ภายในห้วงน้ำ

ด้านพลเรือตรี มอเกอร์ ย้ำว่า ยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่าเกิดการระเบิดเข้าสู่ภายในขึ้นตอนไหน เพราะตลอดการค้นหานานกว่า 72 ชั่วโมง เครื่องโซนาร์ตรวจไม่พบสัญญาณของเหตุการณ์หายนะใดๆ เลย

ผู้บัญชาการหน่วยยามฝั่งเขตที่ 1 กล่าวอีกว่า เขาไม่สามารถยืนยันได้ว่า หน่วยยามฝั่งสหรัฐฯ จะสามารถระบุตำแหน่งร่างผู้เสียชีวิตได้หรือไม่ เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เลวร้ายจนน่าเหลือเชื่อ แต่ดูเหมือนว่าเสียงดังใต้ทะเลที่ตรวจพบก่อนหน้านี้ตั้งแต่คืนวันอังคารจนถึงวันพุธจะไม่เกี่ยวข้องกับเรือไททัน

พลเรือตรี มอเกอร์ ย้ำว่า หน่วยยามฝั่งจะตรวจสอบจุดที่พบซากเรือดำน้ำต่อไป โดยตอนนี้มีเจ้าหน้าที่แพทย์กับเจ้าหน้าที่เทคนิคอยู่บริเวณจุดเกิดเหตุ และมีเรือทำการสำรวจอยู่ 9 ลำ แต่พวกเขาจะเริ่มถอนกำลังเจ้าหน้าที่ภายใน 24 ชั่วโมง โดยที่ยานสำรวจใต้น้ำควบคุมระยะไกล (ROV) จะยังคงอยู่ในพื้นที่ต่อไป.

...

ที่มา : bbc