เหลือเวลาไม่ถึง 10 ชม. ออกซิเจนจะหมด เร่งค้นหา ช่วย 5 ชีวิตในเรือดำน้ำ ‘ไททัน’ ที่สูญหายปริศนา ขณะลงไปชมซากเรือไททานิก ใต้มหาสมุทรแอตแลนติก ด้านทีมค้นหายอมรับขณะนี้ ยังไม่รู้ตำแหน่งของเรือดำน้ำที่หายไป

เมื่อ 22 มิ.ย. 2566 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานความคืบหน้าปฏิบัติการค้นหาเรือดำน้ำ ‘ไททัน’ ที่สูญหาย ใต้มหาสมุทรแอตแลนติก ขณะดำดิ่งลงไปชมซากเรือไททานิก ที่จมอยู่ก้นมหาสมุทรในระดับความลึกถึง 3,800 เมตร เมื่อวันอาทิตย์ที่ 18 มิถุนายน ที่ผ่านมา ตามเวลาท้องถิ่นว่า ขณะนี้ออกซิเจนในเรือดำน้ำนำเที่ยว ‘ไททัน’ เหลืออีกไม่ถึง 10 ชั่วโมงเท่านั้น จะหมดลงแล้ว โดยทีมค้นหานำโดยหน่วยยามฝั่งสหรัฐฯ ยอมรับว่า ตอนนี้ ยังไม่รู้ตำแหน่งของเรือดำน้ำ ‘ไททัน’ ที่สูญหายในมหาสมุทรแอตแลนติก ขณะที่เรือดำน้ำ ‘ไททัน’ ของบริษัทนำเที่ยวเอกชน ‘โอเชียนเกต’ มีออกซิเจนเพียงพอสำหรับการดำรงชีวิตของผู้บังคับเรือ 1 คน ผู้โดยสารอีก 4 คน รวม 5 คน เป็นเวลา 96 ชั่วโมง

ด้านเจมี เฟรเดอริก ผู้บังคับการหน่วยยามฝั่งสหรัฐฯ กล่าวว่า ทีมค้นหา ได้ยินเสียงใต้ทะเลมากขึ้น แต่ก็ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเสียงเหล่านั้นเป็นเสียงอะไร ในขณะที่ปฏิบัติการค้นหาเรือดำน้ำ ‘ไททัน’ ได้ขยายพื้นที่ค้นหาออกไปเป็นประมาณ 2 เท่าของรัฐคอนเนกติกัต และในระดับน้ำลึกจากผิวน้ำทะเล 2.5 ไมล์แล้ว 

5 คนในเรือดำน้ำ‘ไททัน’ที่สูญหาย (ซ้ายบน) ฮามิช ฮาร์ดิง , สต็อกตัน รัช, ปอล อองรี นาร์โฌเลต์, ชาห์ซาดา ดาวูด และสุเลมาน ดาวูด
5 คนในเรือดำน้ำ‘ไททัน’ที่สูญหาย (ซ้ายบน) ฮามิช ฮาร์ดิง , สต็อกตัน รัช, ปอล อองรี นาร์โฌเลต์, ชาห์ซาดา ดาวูด และสุเลมาน ดาวูด

...

ก่อนหน้านี้ คืนวันอังคารที่ 20 มิถุนายน ที่ผ่านมา เครื่องบิน P-3 ของแคนาดา ได้ยินเสียง ‘ดังปัง’ ทุก 30 นาที ในใต้น้ำเป็นครั้งแรก จนสร้างความหวังให้แก่ทีมค้นหาที่จะได้รู้ตำแหน่งของเรือดำน้ำไททัน ทว่าจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่สามารถระบุแน่ชัดได้ว่าเสียงที่ได้ยินดังกล่าว เป็นเสียงอะไร

ขณะที่ศาสตราจารย์เจฟฟ์ คาร์สัน ศาสตราจารย์เกียรติคุณด้านสาขาวิชาโลกศาสตร์และสิ่งแวดล้อมประจำมหาวิทยาลัยซีราคิวส์ ในรัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวกับเดลี่เมลว่า ‘เสียงดังปัง’ ใต้น้ำ ที่เครื่องบิน P-3 ของแคนาดาได้ยินและต่อมามีการใช้เครื่องโซนาร์หลายเครื่องก็ยังคงได้ยินเสียงดังต่อเนื่องนั้น ดูเหมือนว่าอาจเป็นเสียงที่มาจาก ‘ซาก’ และ ‘ขยะ’ ของเรือไททานิกก็เป็นได้

สำหรับไทม์ไลน์ กำหนดเวลาของเรือดำน้ำไททัน ตามข้อมูลของ Miawpukek Maritime Horizon Services ซึ่งเป็นเจ้าของร่วมเรือโพลาร์ พรินซ์ ซึ่งเป็นเรือสนับสนุนการปล่อยเรือดำน้ำไททันลงสู่ใต้มหาสมุทรแอตแลนติก

เวลาทั้งหมดเป็นเวลา Atlantic Daylight Time (แอตแลนติก เดย์ไลต์ ไทม์) ซึ่งเร็วกว่าเวลาชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ 1.5 ชม.

วันศุกร์ที่ 16 มิ.ย. 2566 : เรือโพลาร์ พรินซ์ แล่นออกจากท่าเรือเมืองเซนต์จอห์น รัฐนิวฟันด์แลนด์ ประเทศแคนาดา
วันเสาร์ที่ 17 มิ.ย. : เรือโพลาร์ พรินซ์ เดินทางมาถึงจุดปล่อยเรือดำน้ำไททัน
วันอาทิตย์ที่ 18 มิ.ย.

เวลา 09.00 น. : เริ่มปฏิบัติการปล่อยเรือดำน้ำ
11.47 น. : เรือดำน้ำไททันติดต่อครั้งสุดท้ายกับเจ้าหน้าที่ผิวน้ำของบริษัทโอเชียนเกต
18.10 น. : กำหนดเวลาที่เรือดำน้ำจะต้องกลับขึ้นสู่ผิวน้ำ
18.35 น. มีการแจ้งเจ้าหน้าที่ทางการเรือดำน้ำไททันขาดการติดต่อ และเริ่มปฏิบัติการค้นหาหลังได้รับแจ้ง

ที่มา : Dailymail, BBC