• เกิดอะไรขึ้นกับเรือดำน้ำนำเที่ยว ‘ไททัน’ พร้อมคนในเรือดำน้ำ 5 คน ที่สูญหายไปอย่างปริศนา ขณะกำลังดำดิ่งลงไปชมซากเรือไททานิก ที่จมอยู่ก้นมหาสมุทรแอตแลนติก
  • ผู้เชี่ยวชาญหลายคนคาดการณ์ถึงสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นกับเรือดำน้ำไททัน จนทำให้ขาดการติดต่อ อย่างเช่น พลังงานไฟฟ้าหมด, ไฟไหม้, เรือดำน้ำรั่ว จนเกิดระเบิดภายใน และเรือดำน้ำอาจติดกับซากเรือไททานิก
  • เผยรายชื่อ 5 คนบนเรือดำน้ำ ‘ไททัน’ ท่ามกลางปฏิบัติการค้นหาครั้งใหญ่ของหน่วยยามฝั่งสหรัฐฯ ร่วมกับแคนาดา ที่ชาวโลกได้แต่ภาวนาขอให้คนทั้ง 5 ในเรือดำน้ำไททัน มีชีวิตรอดปลอดภัย

‘บีบหัวใจ’.. เคร่งเครียดอย่างยิ่ง เมื่อเรือดำน้ำนำเที่ยว ‘ไททัน’ ของบริษัทโอเชียนเกต พร้อมกับ 5 ชีวิต ได้สูญหายไปอย่างปริศนาเมื่อวันอาทิตย์ที่ 18 มิถุนายน ที่ผ่านมา ขณะกำลังลงไปชมซากเรือ ‘ไททานิก’ ใต้มหาสมุทรแอตแลนติก โดยที่เรือดำน้ำของบริษัทนำเที่ยวเอกชน ‘โอเชียนเกต’ ลำนี้ มีออกซิเจนเพียงพอสำหรับคนทั้ง 5 แค่  96 ชั่วโมงเท่านั้น

ท่ามกลางปฏิบัติการค้นหาครั้งใหญ่ของสหรัฐฯ และแคนาดา แน่นอนว่า การขาดการติดต่อไปอย่างปริศนาของเรือดำน้ำขนาดเล็ก ‘ไททัน’ ได้เกิดคำถามขึ้นว่า เป็นเพราะเหตุใด ที่ทำให้คนทั้ง 5 ในเรือดำน้ำ จึงไม่ติดต่อกลับมายังเรือสนับสนุน ‘MV Polar Prince’ (โพลาร์ พรินซ์)ได้ หลังถูกปล่อยลงสู่ผิวน้ำ และดำดิ่งลงสู่ก้นมหาสมุทรแอตแลนติก เป็นเวลา 1 ชั่วโมง 45 นาที ของระยะเวลาเดินทาง 2 ชั่วโมง ไปยังจุดที่ซากเรือไททานิกจมอยู่ก้นมหาสมุทร 

ขณะที่ไม่มีหนทางที่จะติดต่อกับเรือดำน้ำไททันได้นั้น บรรดาผู้เชี่ยวชาญได้คาดการณ์ถึงสิ่งที่เป็นไปได้กับเรือดำน้ำลำนี้ จนทำให้ติดต่อสื่อสารกลับมาไม่ได้

...

สถานการณ์ที่ 1 : พลังงานไฟฟ้าหมด

ผู้ช่วยศาสตราจารย์เอริค ฟูซิล ผู้อำนวยการศูนย์การต่อเรือประจำมหาวิทยาลัยแอดิเลด ในออสเตรเลีย กล่าวว่า เรือดำน้ำไททันเคลื่อนที่โดยใช้พลังงานไฟฟ้าในแบตเตอรี่ และการสูญเสียพลังงานไฟฟ้า หมายถึงการสูญเสียการติดต่อสื่อสาร แต่ขณะนี้ไม่สามารถรู้แน่ชัดได้ว่าทำไมพลังไฟฟ้าในแบตเตอรี่ของเรือดำน้ำไททันจึงหมด

‘นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเรือดำน้ำขนาดเล็ก จึงมีแหล่งพลังงานสองแหล่ง ทั้งจากพลังงานไฟฟ้า และพลังงานจากแหล่งอื่น อย่างเช่นไฮดรอลิก เพื่อทำให้ระบบพลังไฟฟ้าปลอดภัย’


สถานการณ์ที่ 2 : ไฟไหม้

ถ้าหากเกิดไฟฟ้าลัดวงจรในเรือดำน้ำ มีความเป็นไปได้ที่จะนำไปสู่การเกิดไฟไหม้ ซึ่งจะทำให้ระบบการสื่อสารจากเรือดำน้ำเสียหายและทำให้เกิดควันพิษกับผู้โดยสารในเรือ
ศาสตราจารย์สเตฟาน วิลเลียมส์ แห่งศูนย์หุ่นยนต์ภาคสนามประจำมหาวิทยาลัยซิดนีย์ แสดงความเห็นในเว็บไซต์ The Conversation ว่า มีความเป็นไปได้อีกเรื่อง คืออาจเกิดไฟไหม้บนเรือดำน้ำ จากไฟฟ้าช็อต


สถานการณ์ที่ 3 : เรือรั่ว/การระเบิดสู่ภายใน

เรือดำน้ำ เผชิญกับแรงดันที่เพิ่มขึ้นขณะดำลงในระดับความลึกที่มากขึ้น และแม้แต่การเกิดรอยรั่วเล็กๆ ก็อาจก่อให้เกิดหายนะ  เกิดการบีบอัดจากภายนอก จากแรงดันมหาศาลจากน้ำระดับลึก จนเกิดการระเบิดสู่ภายในเรือได้(implosion)

สถานการณ์ที่ 4 : อาจกลับขึ้นสู่ผิวน้ำแล้ว

มีความเป็นไปได้ที่บางทีเรือไททันอาจกลับขึ้นสู่ผิวน้ำแล้ว แต่ไม่สามารถติดต่อกับเรือแม่ที่คอยสนับสนุนปฏิบัติการดำน้ำได้ จึงทำให้ทีมค้นหากำลังบินค้นหาในบริเวณที่ปล่อยเรือดำน้ำลงสู่ก้นมหาสมุทรแอตแลนติก

สถานการณ์ที่ 5 : ติดซากเรือไททานิก

กระแสน้ำแรงใต้มหาสมุทร อาจผลักให้เรือดำน้ำเข้าไปใกล้ซากเรือไททานิกเกินไป และอาจทำให้เรือดำน้ำติดอยู่กับซากเรือไททานิก ที่จมอยู่ก้นมหาสมุทรมานานกว่า 110 ปี 

ฮามิช ฮาร์ดิง
ฮามิช ฮาร์ดิง

...

เปิดรายชื่อ 5 คนบนเรือดำน้ำไททัน

บริษัทโอเชียนเกต ให้บริการนำเที่ยวชมซากเรือไททานิก ตามโปรแกรม 8 วัน โดยจะได้นั่งเรือดำน้ำขนาดเล็กไททัน ที่มีขนาดประมาณเท่ารถบรรทุก ลงไปชมซากเรือไททานิกที่จมอยู่ใต้มหาสมุทรแอตแลนติก  ด้วยสนนราคาคนละ 250,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 8.69 ล้านบาท 

และ 5 คนที่เดินทางไปกับเรือดำน้ำไททัน ในเที่ยวนี้ ได้แก่:

1. ฮามิช ฮาร์ดิง (Hamish Harding): มหาเศรษฐีและนักสำรวจ นักผจญภัย ชาวอังกฤษ วัย 58 ปี ซึ่งก่อนหน้านี้เคยขึ้นไปอวกาศกับจรวดของบริษัทบลูออริจิน และสำรวจขั้วโลกใต้มาแล้วหลายครั้ง
2. ชาห์ซาดา ดาวูด (Shahzada Dawood): นักธุรกิจชาวอังกฤษเชื้อชาติปากีสถาน วัย 48 ปี ซึ่งอยู่ในตระกูลร่ำรวยที่สุดตระกูลหนึ่งในปากีสถาน
3. สุเลมาน ดาวูด (Suleman Dawood): นักศึกษา วัย 19 ปี บุตรชายชาห์ซาดา ดาวูด

ชาห์ซาดา ดาวูด และบุตรชาย สุเลมาน ดาวูด
ชาห์ซาดา ดาวูด และบุตรชาย สุเลมาน ดาวูด

...

ปอล อองรี นาร์โฌเลต์
ปอล อองรี นาร์โฌเลต์

4. ปอล อองรี นาร์โฌเลต์ (Paul-Henry Nargeolet): อดีตนักดำน้ำของกองทัพเรือฝรั่งเศส วัย 77 ปี และผู้เชี่ยวชาญด้านซากเรือไททานิกระดับโลก เนื่องจากเขาเป็นนักสำรวจที่ได้ลงไปสำรวจซากเรือไททานิกรวมแล้วเป็นเวลามากที่สุด เมื่อเทียบกับนักสำรวจเรือไททานิกคนอื่นๆ นับตั้งแต่ปอล อองรี นาร์โฌเลต์ ได้ลงไปสำรวจซากเรือไททานิกครั้งแรกในปี 1987

5. สต็อกตัน รัช (Stockton Rush): ผู้ก่อตั้งและซีอีโอบริษัทโอเชียนเกต วัย 61 ปี ที่ให้บริการนำเที่ยวสำรวจซากเรือไททานิก

เรือดำน้ำไททัน
เรือดำน้ำไททัน

...

เรือดำน้ำขนาดเล็กไททัน

เรือดำน้ำขนาดเล็กไททัน  มีความยาว 6.7 เมตร สามารถบรรทุกผู้โดยสารได้ 5 คน ซึ่งประกอบด้วย ผู้บังคับเรือดำน้ำ 1 คน, ผู้โดยสาร 3 คน และบุคคลที่ทางบริษัทเรียกว่า “ผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูล”

เรือดำน้ำนำเที่ยวไททัน มีน้ำหนัก 10,432 กิโลกรัม ไม่มีที่นั่งสำหรับผู้โดยสาร และ มีห้องสุขาเพียงห้องเดียวอยู่ในเรือดำน้ำลำนี้ ที่สามารถดำลงใต้ทะเลได้ในระดับลึกที่สุด 13,100 ฟุต หรือประมาณ 4,000 เมตร และมีออกซิเจนสำหรับการดำรงชีพของผู้โดยสาร 5 คน นาน 96 ชั่วโมง

การเดินทางลงสู่ใต้มหาสมุทรแอตแลนติกของเรือดำน้ำไททัน เพื่อสำรวจชมซากเรือไททานิก ใช้เวลารวม 8 ชั่วโมง ซึ่งเรือดำน้ำไททันจะใช้เวลาดำลงไป 2 ชม. และกลับขึ้นมาสู่ผิวน้ำ 2 ชม. 

เมื่อ 111 ปีก่อน เรือไททานิก ซึ่งถือเป็นเรือโดยสารหรูหราที่สุดและมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ณ เวลานั้น ได้เดินทางเที่ยวแรกจากเมืองเซาแธมป์ตัน ในสหราชอาณาจักร ไปยังนครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา

แต่แล้วเรือไททานิกได้ประสบอุบัติเหตุชนกับภูเขาน้ำแข็ง จนจมสู่ก้นมหาสมุทรแอตแลนติกในปี 1912 ในขณะที่มีผู้โดยสารและลูกเรือบนเรือทั้งสิ้น 2,200 คน จนทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1,500 ศพ 

เวลาของ 5 ชีวิตในเรือดำน้ำกำลังหมด

สำหรับความพยายามในการค้นหาเรือดำน้ำไททันนั้น มีความคืบหน้าดังนี้ ขณะที่เวลาของ 5 ชีวิตในเรือดำน้ำกำลังหมดลงไปเรื่อยๆ 

- หน่วยยามฝั่งสหรัฐฯ ยังคงทำหน้าที่เป็นผู้นำในการค้นหาเรือดำน้ำไททันในมหาสมุทรแอตแลนติก ซึ่งบริเวณที่ค้นหานั้น เป็นพื้นที่กว้างใหญ่ถึงประมาณ 20,000 ตารางกิโลเมตร หรือพอๆ กับรัฐคอนเนกติกัต ของสหรัฐอเมริกา

- ขณะนี้ ทีมกู้ภัยจากกองทัพเรือ กองทัพอากาศ และหน่วยยามฝั่งของแคนาดา เข้าร่วมในปฏิบัติการค้นหาเรือดำน้ำไททัน นอกจากนั้น ยังมีผู้เชี่ยวชาญจากหลายส่วน บริษัทเอกชน หน่วยป้องกันภัยทางอากาศของรัฐนิวยอร์ก และเรือสำรวจของฝรั่งเศสหนึ่งลำได้เข้าร่วมในการค้นหาเรือดำน้ำไททันด้วย

- คาดว่า เรือดำน้ำไททันได้สูญหายในบริเวณ ห่างจากเมืองเซนต์จอห์น รัฐนิวฟันด์แลนด์ ของแคนาดา ไปทางใต้ประมาณ 643 กม.

- เรือดำน้ำไททันได้ขาดการติดต่อกับเรือสนับสนุน โพลาร์ พรินซ์ หลังได้ดำดิ่งลงไปดูซากเรือไททานิก เป็นเวลา 1 ชั่วโมง 45 นาที ที่ระดับความลึก 3,800 เมตร

- เครื่องบิน P-3 ของแคนาดา ได้ยิน ‘เสียงดังปัง’ทุก 30 นาที จากเรือดำน้ำไททันเป็นครั้งแรก เมื่อคืนวันอังคารที่ 20 มิ.ย. ตามเวลาท้องถิ่น จากการใช้เครื่องโซนาร์ ค้นหาเรือดำน้ำใต้มหาสมุทรแอตแลนติก จนถือเป็นความหวังที่จะสามารถค้นหาเรือดำน้ำไททันที่สูญหายได้ทันเวลา และสามารถช่วยชีวิตคนในเรือทั้ง 5 กลับมาอย่างปลอดภัย.

ผู้เขียน : อรัญญา ศรีจันทรนิตย์

ที่มา : BBC