การทำรัฐประหาร ในเมียนมา เมื่อเดือน ก.พ.2021 กลายเป็นสงครามกลางเมือง ระหว่างรัฐบาลทหารเมียนมากับประชาชนและกลุ่มชนกลุ่มน้อยต่างๆ มีหลายประเทศประกาศใช้ มาตรการคว่ำบาตร ต่อ เมียนมา รวมถึง อาเซียน ด้วย ที่มีมติ แบน ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาไปแล้ว
แต่ก็ยังปรากฏเป็นข่าวว่า บุคคลสำคัญในรัฐบาลไทย ไปติดต่อพูดคุยกับ ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา หลายครั้ง ล่าสุดสำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศของไทยมีจดหมายเชิญ รมว.ต่างประเทศเมียนมา และสมาชิกอาเซียนเข้าร่วมประชุมอย่างไม่เป็นทางการเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อหารือ แผนสร้างสันติภาพในเมียนมา โดยในจดหมายระบุว่า เป็นส่วนหนึ่งของการเริ่มต้นกระบวนการสันติภาพ
ปรากฏว่าการประชุมดังกล่าวไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะ รมว.ต่างประเทศสมาชิกอาเซียน หลายประเทศไม่เห็นด้วย กับการที่จะเอาอาเซียนไปการันตีการสร้างสันติภาพในเมียนมา มีการระบุด้วยว่า ความริเริ่มของไทยขัดแย้งกับข้อตกลงอาเซียนล่าสุด ในการประชุมสุดยอดเมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา
ที่แรงสุดๆเห็นจะเป็น นายฟิล โรเบิร์ตสัน รอง ผอ.ภูมิภาคเอเชียของฮิวแมน ไรท์ วอทช์ ให้สัมภาษณ์ รอยเตอร์ ว่า รมว.ต่างประเทศไทยได้แสดง ความจองหอง โดยการเชิญฝ่ายรัฐบาลทหารเมียนมาที่ประเทศเพื่อนบ้านต่างหลีกเลี่ยง และไม่แปลกใจที่ความพยายามของอาเซียนถูกขัดขวางในทุกก้าวเพื่อแก้ไขวิกฤติในเมียนมา
มีการตอบโต้จากกระทรวงต่างประเทศของไทยว่า การที่ไทยต้องริเริ่มสร้างสันติภาพในเมียนมา ก็เพราะเกรงว่าจะถูกแทรกแซงจากมหาอำนาจ และจะกระทบกับไทยและประเทศอาเซียน ซึ่งประเทศไทยก็ถูกแทรกแซงจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาแล้ว
มีการตั้งคำถามว่า ประเทศไทย โดยเฉพาะ รัฐบาลรักษาการชุดนี้ กำลังคิดอะไรอยู่ มีการพูดถึงเรื่องของ ภูมิรัฐศาสตร์ จากผู้นำรัฐบาลหลายครั้ง ความชัดเจนทางด้านนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลรักษาการก็ยังคลุมเครือ และมองไปถึงนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลชุดที่จะเข้ามาใหม่มีท่าทีต่อเรื่องนี้อย่างไรด้วย
...
โดยเฉพาะฉากทัศน์ของการเป็นรัฐบาลที่มาจากทหารและ พลเรือน
มีข่าวต่างประเทศเกี่ยวกับการเคลื่อนไหว การรวมกลุ่มประเทศ กลุ่ม BRICS ที่ประกอบด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีนและ แอฟริกาใต้ ที่มองว่าเป็น ขั้วอำนาจโลกใหม่ มีหลายประเทศที่เข้าร่วมไปเรียบร้อย เช่น ตุรกี เม็กซิโก อินโดนีเซีย สหรัฐอาหรับ เอมิเรตส์ และ อียิปต์ ที่มีเป้าหมาย ภูมิรัฐศาสตร์ ของตัวเอง
อียิปต์ก้าวหน้าถึงขนาดมีแผนที่จะปลีกตัวออกจากสกุลเงินดอลลาร์ในการค้าร่วมกับหลายชาติสมาชิกกลุ่ม BRICS โดยกำลังหาทางใช้เงินสกุลท้องถิ่นสำหรับการชำระสินค้าที่นำเข้าจากอินเดีย จีนและรัสเซีย
มี ธนาคารเพื่อการพัฒนาใหม่ ของกลุ่ม BRICS ตั้งอยู่ที่ นครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน เพื่อลดการพึ่งพาเงินสกุลดอลลาร์ ซึ่งยังอยู่ระหว่างการทดสอบเนื่องจากมีปัญหาการชำระหนี้อยู่ ส่วนหนึ่งเกิดจากผลกระทบของสงครามยูเครน-รัสเซีย เนื่องจากรัสเซียมีส่วนร่วมก่อตั้งเกือบร้อยละ 20
ฉากทัศน์ เหล่านี้อยู่ที่ วิสัยทัศน์ของผู้นำล้วนๆ.
หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th