เรือดำน้ำสุดไฮเทคจากทั่วโลกร่วมค้นหาเรือดำน้ำชมซากเรือไททานิกที่สูญหาย จนถึงขณะนี้ยังไม่พบร่องรอย ระบุเป็นงานหิน เพราะถึงหาเจอก็กู้เรือขึ้นมายากลำบาก เผยบริษัท โอเชียนเกต เคยสั่งปลด ผอ.ฝ่ายปฏิบัติการทางทะเลพ้นตำแหน่ง หลังออกมากังขาเรื่องความปลอดภัยของเรือดำน้ำ

เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2566 นาวาเอกเจมี เฟรเดอริก แห่งหน่วยยามฝั่งสหรัฐฯ แถลงว่า ปฏิบัติการค้นหาจนถึงตอนนี้ครอบคลุมอาณาบริเวณ 26,000 ตารางกิโลเมตร ยังไม่พบสัญญาณของเรือดำน้ำ "ไททัน" (Titan) ของบริษัท "โอเชียนเกต" (Oceangate) ที่สูญหายไปพร้อม 5 คนในเรือ ในระหว่างดำลงไปชมซากเรือไททานิกที่จมลงอยู่ก้นทะเลลึกที่ระดับ 3,800 เมตร นอกชายฝั่งแถบนิวอิงแลนด์ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐฯ ตั้งแต่เมื่อวันอาทิตย์ที่ 18 มิถุนายน ที่ผ่านมา

หน่วยยามฝั่งของสหรัฐฯ ระบุว่า การค้นหาจะยังดำเนินต่อไปแบบเร่งด่วนแข่งกับเวลา เนื่องจากปริมาณออกซิเจนที่คาดว่าเหลือใช้ได้อีกไม่ถึง 40 ชั่วโมงในเรือดำน้ำลำนี้จะหมดลง

ทางด้าน โฆษกนาวิกโยธินของสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ได้ส่งทีมผู้เชี่ยวชาญการดำน้ำลึก หุ่นยนต์ดำน้ำควบคุมระยะไกล ตลอดจนอุปกรณ์ "Flyaway Deep Ocean Salvage System" เพื่อไปช่วยในการกู้เรือขนาดเล็กขึ้นบก ขณะเดียวกันยังมีทีมเรือดำน้ำติดตั้งเทคโนโลยีทันสมัยจากทั่วโลก ได้เดินทางมาร่วมปฏิบัติการค้นหาในครั้งนี้ด้วย

อย่างไรก็ตาม บรรดาผู้เชี่ยวชาญประเมินว่า ภารกิจช่วยเหลือ 5 ชีวิตในเรือดำน้ำไททัน เต็มไปด้วยความยากลำบาก เพราะถึงแม้จะหาเรือที่อยู่ใต้น้ำลึกพบ แต่การกู้เรือดำน้ำขึ้นมาจากระดับความลึกแบบนั้นก็เป็นเรื่องที่ทำได้ยากมาก

ทางด้านเว็บไซต์ข่าวเดลี่ เมล รายงานว่า บริษัท "โอเชียนเกต" ผู้ให้บริการดำน้ำท่องเที่ยวและดำน้ำลึกชมซากเรือไททานิก เคยสั่งปลด นายเดวิด ล็อคริดจ์ ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการทางทะเลของบริษัท ออกจากตำแหน่ง หลังจากที่เขาหยิบยกปัญหาความปลอดภัยของเรือดำน้ำขึ้นมาพูด และขอให้บริษัทตรวจสอบความปลอดภัยของเรือดำน้ำเพิ่มเติมเมื่อปี 2561

...

นอกจากนี้รายงานข่าวยังระบุว่า บริษัทโอเชียนเกต เคยคัดค้านข้อเสนอให้มีการจัดประเภทของเรือ ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติทั่วทั้งอุตสาหกรรม โดยผู้ตรวจสอบอิสระจะตรวจสอบให้แน่ใจว่าเรือผ่านมาตรฐานทางเทคนิคอันเป็นที่ยอมรับ ขณะที่บริษัทโอเชียนเกต ซึ่งเรียกเก็บค่าตั๋วลงเรือดำน้ำสูงถึงคนละ 250,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 8.69 ล้านบาท ระบุว่า การจัดประเภทเรืออาจมีขั้นตอนการตรวจสอบซึ่งต้องใช้เวลานานหลายปี และอาจเป็นผลเสียต่อนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ออกมาอย่างรวดเร็ว.