• รัฐสภาญี่ปุ่นผ่านร่างกฎหมายใหม่ ยกเครื่องกฎหมายอาชญากรรมทางเพศของประเทศ หลังจากถูกวิพากษ์วิจารณ์ และมีความพยายามผลักดันมาอย่างยาวนาน

  • กฎหมายใหม่ขยายคำจำกัดความของคำว่า ข่มขืน ให้กว้างและเน้นย้ำความสำคัญเรื่องความยินยอม และเพิ่มอายุความยินยอมมีเพศสัมพันธ์จาก 13 เป็น 16 ปี

  • แต่นี่เป็นเพียงก้าวแรกๆ ของการปฏิรูป ยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องเปลี่ยนแปลง รวมถึงแนวคิดล้าสมัยที่หยั่งรากลึกในสังคมญี่ปุ่น ซึ่งเป็นอุปสรรคที่ทำให้เหยื่อไม่กล้าออกมาแจ้งความ

 

หลายสิบปีมาแล้วที่เหยื่อการล่วงละเมิดทางเพศในญี่ปุ่นได้แต่ปิดปากเงียบอยู่ในเงามืด ไม่สามารถออกมาขอความช่วยเหลือ หรือขอความเป็นธรรมจากเจ้าหน้าที่ได้ เพราะตัวบทกฎหมายที่ล้าสมัย ไม่สามารถเอาผิดผู้ก่อเหตุ และหลายครั้งที่พวกเธอกลับถูกมองว่าเป็นฝ่ายที่ทำไม่ถูกเสียเอง

แต่ล่าสุดเมื่อวันศุกร์ที่ 16 มิ.ย. 2566 รัฐสภาญี่ปุ่นก็ผ่านร่างกฎหมายใหม่ ยกเครื่องกฎหมายอาชญากรรมทางเพศของประเทศ หลังจากถูกวิพากษ์วิจารณ์ และมีความพยายามผลักดันมาอย่างยาวนาน

กฎหมายใหม่ขยายคำจำกัดความของคำว่า “ข่มขืน” ให้กว้างและเน้นย้ำความสำคัญกับคอนเซปต์เรื่องความยินยอมมากขึ้น, เพิ่มกฎหมายแห่งชาติต่อต้านการแอบถ่ายภาพลามกอนาจารด้วยกล้องลับ และเพิ่มอายุความยินยอมมีเพศสัมพันธ์เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 100 ปี จาก 13 ปี เป็น 16 ปี

นี่นับเป็นชัยชนะครั้งใหญ่ของผู้รอดชีวิตจากการล่วงละเมิดทางเพศและบรรดานักรณรงค์ทั้งหลาย แต่นี่ถือเป็นเพียงก้าวแรกๆ เท่านั้น ยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องแก้ไข รวมถึงสิ่งที่นักเคลื่อนไหวเรียกว่า แนวคิดที่บิดเบี้ยวเกี่ยวกับการมีเซ็กซ์และความยินยอมที่สืบทอดต่อกันมาหลายชั่วอายุคน

...

แก้นิยามคำว่าข่มขืน

หนึ่งในความเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่ที่สุดในวันศุกร์คือ การเปลี่ยนคำจำกัดความของคำว่า ข่มขืน ใหม่ จากเดิมที่นิยมว่า การมีเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากการบีบบังคับด้วยทำร้ายร่างกายหรือขู่กรรโชก รวมถึงการเอาเปรียบเหยื่อที่ไม่มีสติหรือไร้ความสามารถในการขัดขืนซึ่งถือว่าแคบมาก และเหยื่อต้องหาหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าพวกเธอมีความตั้งใจที่จะขัดขืนมาเองด้วย

นักเคลื่อนไหวจำนวนมากพยายามโต้แย้งว่า การหาหลักฐานยืนยันความตั้งใจที่จะขัดขืน เป็นเรื่องยากที่จะพิสูจน์ในหลายกรณี เช่นในกรณีที่เหยื่อตอบสนองด้วยการตัวแข็งทื่อ ซึ่งเกิดขึ้นทั่วไปกับผู้ที่โดยล่วงละเมิดทางเพศ หรือหวาดกลัวเกินกว่าจะขัดขืนด้วยกำลัง

นายยู ทะโดโกโระ โฆษกองค์กร ‘สปริง’ (Spring) ซึ่งเป็นกลุ่มผู้รอดชีวิตจากการล่วงละเมิดทางเพศ กล่าวว่า กฎหมายเก่านี้ทำให้เหยื่อไม่กล้าออกมาแจ้งความ เพราะกลัวว่าศาลจะตัดสินว่าคนร้ายไม่มีความผิด เนื่องจากมีหลักฐานยืนยันความตั้งใจที่จะขัดขืนไม่เพียงพอ

“กระบวนการไต่สวนและการตัดสินความผิดจริงๆ นั้นแตกต่างกันออกไป จำเลยบางคนถูกตัดสินว่าไม่มีความผิด แม้ว่าจะมีการพิสูจน์ได้ว่าการมีเพศสัมพันธ์ไม่ได้เกิดจากความยินยอม เพราะไม่เข้าข่ายเป็นการใช้กำลังหรือขู่กรรโชก” นายทะโดโกโระ กล่าวเสริม

แต่กฎหมายใหม่แทนที่คำว่า “มีเพศสัมพันธ์ด้วยการบีบบังคับ” เป็นคำว่า “มีเพศสัมพันธ์โดยปราศจากความยินยอม” และขยายนิยามของคำว่า ทำร้ายร่างกายให้ครอบครัวเหยื่อที่อยู่ภายใต้ฤทธิ์ของแอลกอฮอล์หรือยาต่างๆ, ผู้ที่มีอาการทางประสาทหรือทุพพลภาพทางกายภาพ, ถูกคนร้ายข่มขู่ด้วยสถานะทางสังคมหรือเศรษฐกิจ และผู้ที่ไม่สามารถแสดงการขัดขืน เนื่องจากการตกใจหรือปฏิกิริยาทางจิตใจอื่นๆ เข้าไปด้วย

อีกหนึ่งความเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่เกิดขึ้นคือ การเพิ่มอายุความยินยอม จาก 13 ปี เป็น 16 ปี หมายความว่าผู้ก่อเหตุจะมีความผิดทันที หากลงมือกับผู้ที่มีอายุ 16 ปีลงไป ยกเว้นในกรณีที่เป็นผู้เยาว์ด้วยกันทั้งคู่ เท่ากับกฎหมายที่ใช้ในหลายรัฐของสหรัฐฯ และประเทศในสหภาพยุโรป, สหราชอาณาจักร, ฟินแลนด์ และนอร์เวย์

นอกจากนั้นยังมีเรื่องอายุความจำกัด หรือกรอบกฎหมายว่าด้วยการแจ้งความเหตุข่มขืน จะถูกขยายจาก 10 ปี เป็น 15 ปี เพื่อเพิ่มโอกาสให้เหยื่อออกมาแจ้งความได้มากขึ้น และห้ามการถ่ายรูปถ้ำมองต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น รูปถ่ายใต้กระโปรง หรือแอบถ่ายขณะมีเพศสัมพันธ์ด้วย

ชิโอริ อิโตะ นักข่าวหญิงชาวญี่ปุ่น ถือป้ายข้อความว่า “ชนะคดี” ที่หน้าศาลแขวงกรุงโตเกียว เมื่อ 18 ธ.ค. 2562 หลังศาลมีคำตัดสินคดีที่เธอกล่าวหาผู้ประกาศข่าวทีวีว่าข่มขืนเธอ
ชิโอริ อิโตะ นักข่าวหญิงชาวญี่ปุ่น ถือป้ายข้อความว่า “ชนะคดี” ที่หน้าศาลแขวงกรุงโตเกียว เมื่อ 18 ธ.ค. 2562 หลังศาลมีคำตัดสินคดีที่เธอกล่าวหาผู้ประกาศข่าวทีวีว่าข่มขืนเธอ

เหยื่อไม่ได้รับความเป็นธรรม

ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา มีผู้หญิงญี่ปุ่นจำนวนมากที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะการตีความกฎหมายที่คับแคบของญี่ปุ่น เช่น คาเนโกะ มิยูกิ ผู้ออกมาเปิดเผยเรื่องราวเลวร้ายที่เคยเกิดขึ้นกับตัวเอง เธอเล่าว่า เมื่อหลายสิบปีก่อน ตอนที่เธออายุเพียง 7 ขวบ เธอต้องเข้าแจ้งความกับตำรวจเรื่องที่เธอถูกล่วงละเมิดทางเพศ แต่กลับถูกหัวเราะเยาะใส่ พวกเขาไม่จริงจังกับคำพูดของเธอ เพียงเพราะว่าเธอเป็นเด็ก

การสืบสวนที่เกิดขึ้นตามมายิ่งทำให้อะไรๆ เลวร้ายลง คาเนโกะถูกสอบปากคำ และถูกพาไปยังจุดเกิดเหตุ โดยไม่มีผู้ปกครองไปด้วย ซึ่งขัดกับแนวทางปฏิบัติในสมัยใหม่ทุกประการ และตำรวจก็ไม่เคยนำตัวผู้ที่ทำร้ายเธอมาลงโทษได้เลย คาเนโกะเป็นแผลใจกับเรื่องนี้มากจนร่างกายปิดกั้นความทรงจำของเธอเอาไว้ กระทั่งมันเริ่มกลับมาตอนเธออยู่ในช่วงวัย 20 ปี และเธอรับมือไม่ได้กับข้อเท็จจริงที่ว่าเธอถูกล่วงละเมิดทางเพศ จนเธอเข้าสู่วัย 40 ปี อาการจึงดีขึ้น

เหยื่ออีกรายหนึ่งใช้ชื่อว่า เมกุมิ โอคาโนะ เธอรู้ดีว่าผู้ที่ทำร้ายเธอเป็นใครและจะหาตัวเขาได้ที่ไหน แต่เธอตัดสินใจไม่แจ้งความกับตำรวจ เพราะเธอรู้ดีว่าเจ้าหน้าที่คงไม่พิจารณาให้คดีของเธอเป็นการข่มขืน

เมกุมิ เล่าว่า เธอถูกเพื่อนนักศึกษาชายจู่โจมตี ขณะที่ทั้งคู่กำลังดูโทรทัศน์ด้วยกัน เธอพยายามปฏิเสธแต่ฝ่ายชายยังไม่ยอมหยุด จนเกิดการปลุกปล้ำกัน สุดท้ายเธอจึงยอมแพ้ที่จะขัดขืนและนอนตัวแข็งทื่อ ซึ่งเป็นการตอบสนองที่เกิดขึ้นตามปกติในคดีการข่มขืน แต่บ่อยครั้งกลับถูกกฎหมายญี่ปุ่นมองข้าม

ด้วยความที่เมกุมิเป็นนักศึกษาวิชากฎหมาย หลังเกิดเหตุเธอตรวจสอบข้อกฎหมายและคดีที่ผ่านมาทั้งหมดและได้ข้อสรุปว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับเธออาจไม่เข้าข่ายการถูกทำร้ายร่างกายหรือขู่กรรโชกตามมาตรฐานของศาลในเวลานั้น เธอจึงไม่แจ้งความ และหันไปพึ่งคณะกรรมการของมหาวิทยาลัยเพื่อลงโทษเพื่อนชายรายนี้ แต่กว่าการสืบสวนจะได้ข้อสรุป เขาก็เรียนจบไปแล้ว และแทบไม่ได้รับผลที่ตามมาใดๆ เลย

เมื่อปี 2557 มีคดีดังเกิดขึ้นที่กรุงโตเกียว ชายผู้ก่อเหตุจับเด็กหญิงอายุ 15 ปี กดกับกำแพงแล้วลงมือข่มขืนในขณะที่เธอพยายามขัดขืน กลับถูกตัดสินว่าให้พ้นจากข้อกล่าวหา เนื่องจากศาลตัดสินว่า การกระทำของเขาไม่ได้ยากเกินไปที่ฝ่ายหญิงจะขัดขืน โดยตลอดการพิจารณาคดี เด็กหญิงคนนี้ถูกปฏิบัติเหมือนเป็นผู้ใหญ่คนหนึ่ง เพราะอายุความยินยอมของญี่ปุ่นอยู่ที่ 13 ปี ต่ำที่สุดในหมู่ชาติพัฒนาแล้วทั้งหมด

...

เมื่อปี 2562 ชาวญี่ปุ่นออกมาประท้วงนานหลายเดือน เพื่อแสดงความไม่พอใจที่ศาลตัดสินให้จำเลยคดีข่มขืนหลายคดีพ้นผิด จนถูกเรียกว่าการประท้วง Flower Demo
เมื่อปี 2562 ชาวญี่ปุ่นออกมาประท้วงนานหลายเดือน เพื่อแสดงความไม่พอใจที่ศาลตัดสินให้จำเลยคดีข่มขืนหลายคดีพ้นผิด จนถูกเรียกว่าการประท้วง Flower Demo

จุดเปลี่ยนสู่การแก้กฎหมาย

ตามผลสำรวจความคิดเห็นของรัฐบาลญี่ปุ่นในปี 2563 ผู้รอดชีวิตจากการถูกข่มขืนหรือล่วงละเมิดทางเพศในญี่ปุ่นถึง 95% ตัดสินใจไม่แจ้งความกับตำรวจ และเกือบ 60% ในจำนวนนี้ไม่เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้ใครฟังเลย

น.ส.นากายามะ จุนโกะ นักกฎหมายและสมาชิกกลุ่ม ‘ฮิวแมน ไรท์ส นาว’ (Human Rights Now) กล่าวว่า นักเคลื่อนไหวในญี่ปุ่นพยายามมากว่าครึ่งศตวรรษที่จะแก้กฎหมายอาชญากรรมทางเพศ หลายครั้งถูกคลื่นใต้น้ำในรัฐบาลขัดขวาง บางครั้งก็ถูกตีตกโดยสมาชิกสภาที่เชื่อว่า ความเปลี่ยนแปลงไม่มีความจำเป็น แม้แต่สื่อหลายเจ้าของประเทศก็มีความเข้าใจจำกัดในเรื่องความยินยอม และเชื่อไปเองว่า ผู้ก่อเหตุข่มขืนกำลังถูกลงโทษอย่างเหมาะสม

แต่ความเปลี่ยนแปลงเริ่มขึ้นในปี 2562 เมื่อจู่ๆ ในญี่ปุ่นก็เกิดกรณีศาลพิพากษาให้จำเลยคดีข่มขืนซึ่งได้รับความสนใจจากสังคมหลายคดี พ้นผิดติดๆ กันหลายคนภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์

คดีที่เป็นข้อถกเถียงที่สุดคือ กรณีของพ่อผู้ถูกตัดสินให้พ้นข้อกล่าวหาข่มขืนลูกสาววัย 19 ปี ที่เมืองนาโกยะ โดยศาลยอมรับว่าการมีเพศสัมพันธ์นั้นเกิดโดยปราศจากความยินยอม และผู้เป็นพ่อใช้กำลังล่วงละเมิดทางเพศและทางกายภาพลูกสาวของตัวเอง แต่คณะผู้พิพากษากลับลงความเห็นว่า เหยื่อควรขัดขืนการกระทำของผู้เป็นพ่อ

คำตัดสินของศาลทำให้เกิดการประท้วงไปทั่วประเทศ ผู้หญิงจำนวนมากตั้งแต่ในกรุงโตเกียวไปจนถึงฟุคุโอกะ ออกมาชุมนุมตามท้องถนนนานหลายเดือน เรียกร้องให้มีการแก้กฎหมาย พวกเธอใช้ดอกไม้เป็นสัญลักษณ์ของการประท้วง ภายใต้สโลแกนต่อต้านการใช้ความรุนแรงทางเพศหลายอย่าง รวมถึงแฮชแท็ก #MeToo

สุดท้ายคดีที่นาโกยะก็ถูกศาลสูงของญี่ปุ่นกลับคำตัดสิน ผู้เป็นพ่อถูกตัดสินว่ามีความผิด แต่ไฟถูกจุดติดแล้ว จนในที่สุดก็มีการยื่นญัตติเสนอกฎหมายปฏิรูปที่เคยล้มเหลวมาหลายปีอีกครั้ง

...

นักเคลื่อนไหวในญี่ปุ่นรวมตัวทำกิจกรรมภายใต้ชื่อ One Billion Rising เพื่อต่อต้านการข่มขืนและการใช้ความรุนแรงทางเพศต่อผู้หญิง เมื่อ 14 ก.พ. 2564
นักเคลื่อนไหวในญี่ปุ่นรวมตัวทำกิจกรรมภายใต้ชื่อ One Billion Rising เพื่อต่อต้านการข่มขืนและการใช้ความรุนแรงทางเพศต่อผู้หญิง เมื่อ 14 ก.พ. 2564

แนวคิดล้าสมัยที่หยั่งรากลึก

อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปกฎหมายที่เกิดขึ้นแก้ปัญหาเพียงบางส่วนเท่านั้น กลุ่มนักเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีความเปลี่ยนแปลงในส่วนอื่นๆ นอกเหนือจากในศาลด้วย เพราะการล่วงละเมิดทางเพศยังคงเป็นประเด็นต้องห้ามในญี่ปุ่น ที่เพิ่งได้รับความสนใจระดับชาติเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา

น.ส.คาซุโกะ อิโตะ รองประธานกลุ่ม ฮิวแมน ไรท์ส นาว กล่าวว่า ส่วนหนึ่งของปัญหาคือ ชาวญี่ปุ่นหลายชั่วอายุคนเติบโตขึ้นมาพร้อมกับแนวคิดที่บิดเบี้ยว เกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์และความยินยอมทางเพศ แม้ว่าวิชาเพศศึกษาในโรงเรียนจะถูกสอนตามวิถีสมัยใหม่ แต่แทบไม่มีการแตะเรื่องความยินยอม และเด็กญี่ปุ่นก็เข้าถึงสื่อลามกที่ผู้หญิงมักถูกพรรณนาว่าสนุกกับการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ยินยอมได้อย่างง่ายดาย

ด้าน น.ส.นาคายามะ กล่าวว่า ญี่ปุ่นยังตามหลังชาติพัฒนาแล้วอื่นๆ ที่เริ่มแก้กฎหมายให้สะท้อนแนวคิดที่ว่า “ได้ก็คือได้” (Yes means yes) ซึ่งหมายถึง คู่นอนควรถามยืนยันความยินยอมอย่างชัดเจน แทนที่จะทึกทักเอาเองว่าการที่อีกฝ่ายไม่ได้ปฏิเสธแปลว่ายินยอม โดยในญี่ปุ่นก็มีคอนเซปต์คล้ายๆ กันที่เรียกว่า “ไม่ก็คือไม่” (No means no) แต่ก็เพิ่งอยู่ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น

ส่วน นายทะโดโกโระ ก็เห็นด้วยในจุดนี้ โดยระบุว่า เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องยอมรับก่อนว่า ความยินยอมไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติหรือถาวรระหว่างคู่รัก และมันสามารถถอดถอนได้

นอกจากนั้น ยังมีกฎหมายอื่นๆ ที่พวกเขาต้องการให้แก้ไขในอนาคต เช่น คุ้มครองผู้ทุพพลภาพจากการล่วงละเมิดทางเพศให้ดียิ่งขึ้น และวางแนวทางที่พวกเขาจะสามารถให้ความยินยอม และขยายอายุความของคดีมากขึ้นอีก เนื่องจากหลายครั้งที่ผู้เสียหายต้องใช้เวลาหลายสิบปีในการรวบรวมความกล้าเพื่อก้าวออกมาเปิดเผยเรื่องราว เช่นกรณีของคาเนโกะ

แต่บางทีอุปสรรคใหญ่ที่สุดที่ขัดขวางไม่ให้เหยื่อก้าวออกมาแจ้งความก็คือสังคมญี่ปุ่นเอง และมุมมองทางลบที่มีต่อเหยื่อผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศก็ยังคงแพร่กระจายอย่างกว้างขวาง

“ตอนที่ฉันพูดกับคนอื่นเกี่ยวกับเรื่องนั้น ฉันก็ถูกหลบหน้า และไม่เป็นที่ยอมรับ” คาเนโกะ กล่าว และว่ามีบางคนพูดกับเธอว่า “เมื่อเวลาผ่านไปก็ลืมได้เอง” หรือ “ชีวิตมันก็เป็นแบบนี้แหละ” แต่บางครั้งคนอื่นก็ใช้คำพูดโหดร้ายกว่ามาก เช่น พูดย้ำว่า “เธอถูกข่มขืนเหรอ?”

แม้ตอนนี้จะเริ่มมีสัญญาณความเปลี่ยนแปลงที่ดี เนื่องจากรัฐบาลมีแคมเปญเพิ่มความตระหนักรู้แก่สังคม และเพิ่มการศึกษาเรื่องเพศในโรงเรียน แต่ยังมีช่องว่างในเรื่องการสนับสนุนผู้รอดชีวิต เช่น การให้คำปรึกษา, การบำบัด และบริการสาธารณะเพื่อช่วยให้พวกเขาสามารถกลับเข้าสู่สังคมได้ นอกจากนั้น ตำรวจบางคนก็ต้องทำความเข้าใจวิธีรับมือสถานการณ์ เพื่อที่จะไม่เป็นฝ่ายทำร้ายเหยื่อเสียเอง





ผู้เขียน : ทิตชนม์ สว่างศรี

ที่มา : cnnbbc

...