เมื่อวานผมรับใช้ถึงผู้มีอำนาจที่ไม่เห็นความสำคัญของการที่ประชาชนมาชุมนุมประท้วงในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เช่น การชุมนุมประท้วงที่เมืองอมฤตสาร์ซึ่งเป็นศูนย์กลางอันศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาซิกข์ นายไมลส์ เออร์วิ่ง ตัวแทนข้าหลวงเที่ยวจับคนมั่วซั่ว จับนายคิชลูและนายสัตยปาล ผู้นำชาตินิยมแคว้นปัญจาบ ฝูงชนจึงมารวมตัวกันอีกเพื่อเดินขบวนไปที่บ้านนายเออร์วิ่ง
นายเออร์วิ่งสั่งให้ทหารอังกฤษยิงคนอินเดียบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก จนผู้คนโกรธวิ่งไปเผาเมืองเก่าของอมฤตสาร์ ทำลาย ธนาคารอังกฤษ ฆ่าชายอังกฤษหลายคน ทำร้ายผู้หญิงอังกฤษอีก 2 คน นายพลไดเออร์นำทหาร 1,000 คน ไปควบคุมสถานการณ์ และยิงกราดเข้าไปในสวนสาธารณะจัลเลียนนวลาบาฆ ซึ่งขณะนั้นมีคนชุมนุมอยู่เป็นหมื่น คนพวกนี้ไม่ได้เกี่ยวดองหนองยุ่งกับการเมืองเลย เป็นเพียงชาวนาที่เดินทางมาฉลองเทศกาลทางศาสนา แต่ก็มาถูกทหารอังกฤษยิงตายเสียมากกว่า 400 คน บาดเจ็บอีกหลายพัน
เมื่อยิงเสร็จแล้ว อังกฤษก็ไม่ได้รู้สึกสะทกสะท้านอันใด ยกกองกำลังกลับไปที่ค่ายทหาร ปล่อยให้คนเจ็บนอนร้องโอดโอยโหยหวน ข้าหลวงใหญ่ชาวอังกฤษก็เห็นด้วยกับเหตุการณ์ฆ่าหมู่ชาวอินเดียในครั้งนี้ รัฐบาลอังกฤษประกาศกฎอัยการศึกบังคับใช้ทั่วแคว้นปัญจาบและให้สอบสวนนายพลไดเออร์ รวมทั้งให้พ้นจากหน้าที่ความรับผิดชอบในอินเดีย
ทันทีที่นายพลไดเออร์เดินทางถึงกรุงลอนดอน แกก็กลายเป็นวีรบุรุษ ประชาชนคนอังกฤษจำนวนมากเห็นด้วยกับการยิงคนอินเดียตายกลายเป็นผีไปมากกว่า 400 ชีวิต ต่างรวบรวม เงินบริจาคหลายพันปอนด์ให้นายพลไดเออร์ มอบดาบฝังเพชรสลักข้อความว่า Saviour of the Punjab เซเวียร์ แห่งแคว้นปัญจาบ มีความหมายว่าเป็นผู้ช่วยให้แคว้นปัญจาบพ้นภัย
เมื่อเรื่องการยิงคนอินเดียตายกว่า 400 คน เข้าสภาสามัญ พวกสมาชิกสภาสามัญ (ส.ส.) ของอังกฤษ เห็นด้วยกับนายพลไดเออร์ และเมื่อนำเข้าสู่สภาขุนนางเพื่อผ่านกฎหมายให้อภัยโทษแก่นายพลไดเออร์ สมาชิกสภาขุนนางต่างยกมือให้อย่างท่วมท้น เรื่องนี้นี่ละครับที่ทำให้คนอินเดียซึ่งเดินสายกลางและภักดีต่อการปกครองของอังกฤษกลายเป็นพวกชาตินิยมต่อต้านอังกฤษ
...
การต่อต้านจึงบานปลายขยายไปทั้งประเทศ จนคานธีกลัว กลัวถึงขนาดประกาศให้ยุติการทำสัตยาเคราะห์ มหาตมะ คานธี สารภาพต่อประชาชนว่า ที่เหตุการณ์บานปลายไปถึงขนาดนี้เป็นผิดของท่าน ท่านลงโทษตัวเองด้วยการอดอาหารเป็นเวลา 3 วัน มหาตมะ คานธีเองก็สูญสิ้นความศรัทธาที่มีต่ออังกฤษ ด้วยเห็นว่าอังกฤษปกครองอินเดียอย่างไร้คุณธรรม
วันเวลาหมุนเวียนเปลี่ยนไป 65 ปี กลุ่มทหารซิกข์ภายใต้การนำของผู้นำศาสนาซิกข์ คือนายจาร์เนล ซิงห์ ภินดรันวเล ยึดวิหารทองคำเพื่อใช้เป็นฐานต่อสู้กับรัฐบาลอินเดียของนางอินทิรา คานธี นายกรัฐมนตรี เพราะชาวซิกข์มองว่านางคานธีมีนโยบายต่อต้านชาวซิกข์ 6 มิถุนายน 1984 ทหารอินเดียเข้าโจมตีวิหารทองคำ ฆ่านายภินดรันวเลและชาวซิกข์อีกหลายร้อยคน ทำลายอาคารของวัดอย่างยับเยิน
เรื่องนี้นำไปสู่การสาดกระสุนมากกว่า 30 นัด ยิงนายก รัฐมนตรี นางอินทิรา คานธี จนถึงแก่อสัญกรรมเมื่อ 31 ตุลาคม 1984 พวกคนอินเดียที่รักนางคานธีก็ฆ่าล้างแค้นชาวซิกข์ทั่วประเทศ ล้างแค้นกันวุ่นวายไม่สิ้นสุด
เหตุการณ์นี้ทำให้ชาวซิกข์มากมายหลายแสนคนอพยพไปอยู่ในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศทางตะวันตก ตอนเกิดเหตุการณ์ฆ่าชาวซิกข์เมื่อ ค.ศ.1919 มีชาวซิกข์อยู่ในแคนาดาแค่ 965 คน พอถึงเหตุการณ์ 1984 ก็เพิ่มจำนวนขึ้นหลักแสน เดือนธันวาคม 2021 มีชาวซิกข์ในแคนาดาทั้งหมด 771,790 คน
คนซิกข์ไปอยู่ที่ไหนก็จะมุ่งมั่นขยันทำมาหากินจนประสบความสำเร็จทางธุรกิจในระดับสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแคนาดาซึ่งเป็นประเทศที่มีความเสรีในการทำมาหากินและการใช้ชีวิต คนซิกข์มีความภักดีต่อประเทศที่ตนย้ายไปเป็นพลเมือง ไม่ค่อยมีข่าวว่าชาวซิกข์มีปัญหากับใคร.
นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com