อมฤตสาร์หรืออมฤตสระเป็นเมืองในรัฐปัญจาบ อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของสาธารณรัฐอินเดีย ใกล้พรมแดนปากีสถาน เป็นที่ตั้งของสุวรรณวิหารซึ่งเป็นศาสนสถานศูนย์กลางของศาสนาซิกข์ เคยถูกรัฐบาลอินเดียส่งกำลังเข้ากวาดล้างกลุ่มผู้นำชาวซิกข์เมื่อ ค.ศ. 1984 จนเป็นเหตุที่นำไปสู่การสังหารนางอินทิรา คานธี นายกรัฐมนตรีอินเดีย

มิถุนายน 2023 นายเอส. ชัยศังกระ รัฐมนตรีต่างประเทศของอินเดียตำหนิรัฐบาลแคนาดา กรณีอนุญาตให้ชาวซิกข์จัดขบวนพาเหรดล้อเลียนเหตุลอบสังหารอดีตนายกรัฐมนตรีนางอินทิรา คานธี โดยชี้ว่าการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายเชิดชูพฤติกรรมรุนแรงของชาวซิกข์แบ่งแยกดินแดน “ไม่ใช่เรื่องดีต่อความสัมพันธ์และไม่ใช่เรื่องดีสำหรับแคนาดา” ข้าหลวงใหญ่แคนาดาประจำอินเดียเองก็ประณามการจัดขบวนพาเหรดของนักเคลื่อนไหวชาวซิกข์ในแคนาดาด้วยเช่นกัน ในขบวนนี้มีการตั้งหุ่นจำลองนางคานธีสวมชุดส่าหรีสีขาว โชกเลือด ชูมือขึ้นเหนือศีรษะ มีบอดี้การ์ดชาวซิกข์โพกหัวเล็งปืนไปที่เธอ ส่วนที่ด้านหลังมีข้อความที่เขียนว่า revenge (แก้แค้น)

สำหรับคนที่ไม่ได้ตามการเมืองเอเชียใต้ก็อาจจะคิดว่านี่เป็นการล้อเลียนธรรมดา ทว่าคนที่ตามการเมืองระหว่างประเทศอย่างละเอียดจะเข้าใจว่า นี่เป็นประเด็นความเป็นความตายของอนาคตความสัมพันธ์ของประเทศทั้งสอง

แคนาดาเป็นหนึ่งในสมาชิกของกลุ่มนาโต (ที่นำโดยสหรัฐฯ) อินเดียเป็นสมาชิกแข็งแรงของกลุ่ม BRICS ที่เป็นการรวมตัวของ 5 ประเทศคือ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ ที่สำคัญก็คือ อินเดียเป็นสมาชิกของ SCO หรือ The Shanghai Cooperation Organization ที่ภาษาไทยเราเรียกว่าองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นองค์กรในกลุ่มภูมิภาคยูเรเซียที่รวมตัวกันทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ ความมั่นคงระหว่างประเทศ และการป้องกันประเทศ ในมิติของภูมิศาสตร์และประชากร แล้ว SCO ใหญ่ที่สุดในโลก กินพื้นที่มากถึงร้อยละ 60 ของแผ่นดินยูเรเซีย และร้อยละ 40 ของพื้นที่โลก นอกจากนั้น ยังมีประชากรมากกว่าร้อยละ 40 ของโลก เมื่อรวมกันทุกประเทศแล้ว มีจีดีพี ประมาณร้อยละ 20 ของจีดีพีโลก

...

นักวิเคราะห์ชาวอินเดียบางคนมองว่า เหตุการณ์การล้อเลียนที่เมืองแบรมป์ตัน จังหวัดออนแทรีโอ ของแคนาดาครั้งนี้ อาจจะเป็นหนึ่งในจุดแตกหักที่ทำให้อินเดียยอมทุ่มกายถวายใจให้กลุ่ม SCO และ BRICS มากขึ้น

อมฤตสาร์เคยเกิดเหตุการณ์รุนแรงที่นำไปสู่ความแตกแยกของอินเดียถึง 2 ครั้งด้วยกัน คนที่ไม่ทราบเหตุการณ์ที่เมืองอมฤตสาร์ก็วิเคราะห์การเมืองเอเชียใต้แบบผิวเผิน ถ้าจะเล่าเรื่องนี้รับใช้ผู้อ่านท่านที่เคารพก็อาจจะต้องใช้เวลานานถึง 2 วัน ขออนุญาตเริ่มอย่างนี้ครับว่า ค.ศ.1919 อังกฤษออกพระราชบัญญัติโรว์แลตต์ ให้รัฐบาลมีอำนาจจับผู้ต้องสงสัยว่าจะก่อจลาจลโดยไม่ต้องสอบสวนหรือให้ศาลพิจารณา มหาตมะ คานธี จึงนำเอาหลักการต่อสู้แบบอหิงสาหรือสัตยาเคราะห์ต่อต้านพระราชบัญญัติด้วยการนัดหยุดงานทั่วประเทศ ปิดร้านค้าทั้งหมด ผู้คนต่างพากันอดอาหารและสวดมนต์

วันหารตาลซึ่งก็คือวันที่ 30 มีนาคม 1919 เป็นวันที่การต่อสู้แบบสัตยาเคราะห์เริ่มขึ้น มหาตมะ คานธี บริหารการต่อสู้ไม่รัดกุม จึงทำให้ผู้ร่วมต่อสู้ถูกยิงตายที่กรุงเดลี 8 คน และบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ส่วนที่เมืองอมฤตสาร์ ซึ่งเป็นเมืองศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาซิกข์ ผู้นำชาตินิยมแห่งแคว้นปัญจาบให้มวลชนจากเมืองละฮอร์มาชุมนุมที่เมืองอมฤตสาร์ แต่มหาตมะ คานธี ไม่สามารถมานำมวลชนในครั้งนี้ได้ เพราะถูกจับที่ชายแดนของแคว้นปัญจาบ

ขออนุญาตมาเล่าต่อในคอลัมน์เปิดฟ้าส่องโลกฉบับวันพุธพรุ่งนี้ครับ ขอเรียนว่า การประท้วงทั้งเล็กและใหญ่ หากผู้มีอำนาจไม่ฉลาดพอ ก็อาจจะทำให้สถานการณ์บานปลาย เช่นเดียวกับการชุมนุมที่เมืองอมฤตสาร์ ซึ่งเรื่องจะบานปลายเป็นอย่างไรต่อไป ทำไมอินเดียจึงโกรธรัฐบาลแคนาดานักหนา ต้องมาอ่านต่อในวันพุธพรุ่งนี้ครับ.

นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com