กระแสการทานเนื้อและนมจากสัตว์ ไข่ และการใช้ผลิตภัณฑ์จากอวัยวะของสัตว์ลดน้อยลงอย่างมาก หลายประเทศถอดเนื้อสัตว์และนมสัตว์ออกจากอาหารแนะนำในคู่มืออาหารแห่งชาติ หนึ่งในบรรดาหลายประเทศนั้นคือ กระทรวงสาธารณสุขของรัฐบาลแคนาดา ที่ตีพิมพ์คู่มืออาหารแห่งชาติครั้งแรกเมื่อ ค.ศ.1942 (พ.ศ.2485) โดยแนะนำให้ชาวแคนาดาทานเนื้อสัตว์และดื่มนมวัวหลายครั้งต่อวัน การปรับปรุงคู่มืออาหารแห่งชาติของแคนาดาเมื่อ ค.ศ.2007 (พ.ศ.2550) ก็ยังแนะนำให้ชาวแคนาดาทานอาหาร 4 กลุ่ม คือผัก และผลไม้ ผลิตภัณฑ์จากธัญพืช นม และเนื้อสัตว์

ปัจจุบันทุกวันนี้ กระทรวงสาธารณสุขแคนาดาแนะนำให้พลเมืองของตนทานอาหาร 3 กลุ่ม คือ 1.ผักและผลไม้ 2.ธัญพืชไม่ขัดสี และ 3.โปรตีนจากพืชที่เป็นพวกพัลส์ เช่น ถั่วเลนทิล และถั่วประเภทอื่น ให้ทานนมจากพืช เช่น นมจากถั่วและนมจากเมล็ดพืช รวมทั้งเต้าหู้ซึ่งเป็นแหล่งโปรตีนที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพขั้นสูง

การเปลี่ยนแปลงในคู่มืออาหารแห่งชาติของแคนาดาทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์สำหรับขายเนื้อและนม รวมทั้งพวกอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเนื้อสัตว์และนมทั้งหลาย ประท้วงและล็อบบี้รัฐบาลแคนาดาให้ยกเลิกคู่มืออาหารแห่งชาติฉบับที่ว่า ทว่ารัฐบาลแคนาดาของนายจัสติน ทรูโดไม่สนใจ เพราะ ถือว่าสุขภาพของพลเมืองมีความสำคัญมากกว่าผลประโยชน์ของนักธุรกิจเฉพาะกลุ่ม

พวกในอุตสาหกรรมเลี้ยงสัตว์และผลิตนมให้ทุนนักวิจัยจำนวนมากเพื่อวิจัยสนับสนุนความจำเป็นและการต้องบริโภคเนื้อสัตว์และดื่มนมวัว แต่รัฐบาลแคนาดาไม่ยอมรับผลวิจัยที่มาจากทุนของพวกอุตสาหกรรมสัตว์เหล่านี้ ผู้ที่ยืนยันออกมาเล่าเรื่องนี้คือ ดร.ฮาสัน ฮัทชินสัน ผู้อำนวยการใหญ่ของสำนักงานนโยบายและส่งเสริมโภชนาการ กระทรวงสาธารณสุขของแคนาดา

อีกท่านหนึ่งซึ่งออกมาสนับสนุนว่าสิ่งที่รัฐบาลแคนาดากำลังทำอยู่นั้นถูกต้องคือ ดร.เดวิด เจนคินส์ ประธานการวิจัยด้านโภชนาการและเมตาบอลิซึมของแคนาดา ดร.เจนคินส์เป็นศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยโตรอนโต ผู้มีชื่อเสียงจากการสร้างดัชนีน้ำตาลในทศวรรษที่ 1980 ท่านกล่าวยืนยันว่าแนวทางของคู่มืออาหารแห่งชาติที่เน้นให้มนุษย์ทานพืชนั้น เป็นแนวทางที่ถูกต้อง และมนุษยชาติทั้งมวลควรจะเดินตามแนวนี้

...

สำนักงานสถิติแห่งชาติของแคนาดาพบว่า การดื่มนมทางเลือกซึ่งเป็นนมจากพืชของชาวแคนาดาเพิ่มขึ้นอย่างมาก แม้แต่ในสหราชอาณาจักร ขณะนี้ 1 ใน 4 ของชาวอังกฤษก็เลือกดื่มนมจากพืช ด้วยทุนจำนวนมโหฬารที่อุตสาหกรรมเนื้อและนมโยนลงไปในสถาบันการศึกษา และสำนักงานวิจัยในอดีตมาเป็นเวลาช้านานนั้น ทำให้ความเข้าใจในเรื่องอาหารของมนุษย์ผิดเพี้ยนไป ปัจจุบัน ด้วยความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทำให้สามารถค้นพบข้อเสียที่ซ่อนอยู่ในการกินเนื้อสัตว์และการดื่มนมจากสัตว์มากขึ้น

การค้นคว้าวิจัยและการศึกษาโดยไม่ถูกบิดเบือนด้วยทุนของอุตสาหกรรมปศุสัตว์ เปิดเผยถึงผลร้ายของนมที่มีต่อสุขภาพ นมจากสัตว์เชื่อมโยงกับโรคร้ายแรงต่างๆของมนุษย์เป็นจำนวนไม่น้อย ซึ่งเป็นโรคที่ทำให้เกิดอัตราการตายสูง

นอกจากเรื่องที่นมและเนื้อสัตว์มีผลกระทบด้านสุขภาพแล้ว ทางด้านสิ่งแวดล้อมก็มีผลเสียด้วย ผู้เข้าร่วมการศึกษาปัญหาสิ่งแวดล้อมระดับโลกมากกว่าร้อยละ 36 ยืนยันว่า การทำฟาร์มโคนมมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระดับสูง มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของนม ข้าว ถั่วเหลือง ข้าวโอ๊ต และนมอัลมอนด์ โดยวัด 1.การปล่อยมลพิษ 2.การใช้ที่ดิน และ 3.การใช้น้ำ พบว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากอุตสาหกรรมนมสูงกว่าการปลูกพืชทางเลือกถึง 3 เท่า ในมิติการใช้น้ำ นมถั่วเหลือง และนมข้าวโอ๊ตใช้น้ำน้อยมาก ส่วนในมิติของที่ดิน การผลิตนมจากพืชใช้ที่ดินน้อยกว่าการผลิตนมจากวัวมากถึง 10 เท่า

โลกกำลังเปลี่ยนจากการบริโภคเนื้อสัตว์และนมวัว เป็นการบริโภคเนื้อจากพืช และการดื่มนมจากพืช หลายสำนักวิเคราะห์ว่า อนาคต อาหารจากพืชจะมาแรง ประเทศของเราก็ต้องเริ่มแนะนำให้ผู้ผลิตของเราชำนาญด้านนี้.

นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com