นักวิทยาศาสตร์พบจระเข้สามารถตั้งท้องได้เองโดยไม่ต้องผสมพันธุ์กับตัวผู้เป็นครั้งแรก แต่เชื่อว่ามันอาจทำได้อยู่แล้ว แต่ไม่มีใครสังเกตเห็น
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า นักวิทยาศาสตร์พบจระเข้ที่สามารถตั้งท้องเองได้โดยไม่ต้องมีการผสมพันธุ์เป็นครั้งแรก ที่สวนสัตว์ในประเทศคอสตาริกา หลังจากผลการตรวจสอบยืนยันแล้วว่า จระเข้เพศเมียตัวนี้ ผลิตตัวอ่อนที่มีรหัสพันธุกรรมตรงกับตัวเองถึง 99%
ปรากฏการณ์ที่เรียกว่า virgin birth นี้ ถูกพบในนก, ปลา และสัตว์เลื้อยคลานสายพันธุ์ต่างๆ แต่ไม่เคยพบในจระเข้มาก่อน ซึ่งนักวิทยาศาสตร์คาดว่านี่อาจเป็นความสามารถที่สืบทอดต่อกันจากบรรพบุรุษของมัน ซึ่งทำให้เป็นไปได้ว่า ไดโนเสาร์ก็อาจมีลูกโดยไม่ต้องผสมพันธุ์ได้เช่นกัน
ผลการวิจัยเกี่ยวกับการค้นพบครั้งนี้ถูกตีพิมพ์ในวารสาร Biology Letters โดยระบุว่า จระเข้สายพันธุ์อเมริกัน เพศเมีย อายุ 18 ปี ที่สวนสัตว์ ‘ปาร์เก เรปติลาเนีย’ (Parque Reptilania) วางไข่ออกมาฟองหนึ่งในเดือนมกราคม 2561 โดยตัวอ่อนภายในเติบโตอย่างเต็มที่แล้ว แต่มันตายก่อนที่จะได้ฟักตัวออกมา
ทางสวนสัตว์ระบุว่า พวกเขาได้จระเข้ตัวนี้มาตั้งแต่ตอนที่มันอายุ 2 ขวบ และเลี้ยงมันแยกจากจระเข้ตัวอื่นมาตลอดชีวิต ทำให้ทีมนักวิทยาศาสตร์ของสวนสัตว์ติดต่อกับ ดร.วอร์เรน บูธ ผู้ศึกษาเรื่อง พาร์ทีโนจินิซิส หรือการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศมานานกว่า 11 ปี เพื่อตรวจสอบยืนยัน
ดร.บูธ ทำการวิเคราะห์ตัวอ่อน และพบว่ามันมีรหัสพันธุกรรมเหมือนกับแม่ของมันมากกว่า 99% เป็นการยืนยันว่า มันถูกสร้างขึ้นมาโดยไม่มีพ่อ
อย่างไรก็ตาม ดร.บูธ ระบุว่า เขาไม่ประหลาดใจกับการค้นพบครั้งนี้ เพราะเราเห็นเรื่องแบบนี้ในฉลาม, นก, งู และกิ้งก่าต่างๆ มันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทั่วไปและเป็นวงกว้าง แต่ที่เราไม่เคยเห็นมันในจระเข้ก็อาจเป็นเพราะว่า ผู้คนไม่ได้พยายามมองหากรณีตัวอย่างในจระเข้
...
“รายงานเกี่ยวกับการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศเพิ่มมากขึ้น หลังจากผู้คนเริ่มเลี้ยงงูเป็นสัตว์เลี้ยง แต่ผู้เลี้ยงสัตว์เลื้อยคลานทั่วไป ไม่ได้เลี้ยงจระเข้”
ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์มีการตั้งทฤษฎีว่า ความสามารถสืบพันธุ์โดยไม่อาศัยเพศจะเกิดขึ้นในสัตว์ที่เหลือจำนวนน้อยและเสี่ยงสูญพันธุ์ ซึ่ง ดร.บูธ เห็นด้วย และระบุว่าปรากฏการณ์นี้อาจเกิดขึ้นกับไดโนเสาร์บางสายพันธุ์ตอนที่จำนวนของพวกมันลดลง เพราะสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป
“ข้อเท็จจริงที่ว่ากลไกการสืบพันธุ์โดยไม่อาศัยเพศเหมือนกันในสัตว์หลากหลายสายพันธุ์ บ่งชี้ว่านี่เป็นคุณสมบัติเก่าแก่มากที่สืบทอดต่อกันมาผ่านยุคสมัย ดังนั้นมันจึงสนับสนุนแนวคิดที่ว่า ไดโนเสาร์ก็อาจสืบพันธุ์ด้วยวิธีนี้ได้เช่นกัน”
ที่มา : bbc