ตามรายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ของสหประชาชาติ ระบุว่าถ่านชีวภาพหรือไบโอชาร์ (Biochar) เป็นวัสดุที่อุดมคาร์บอน ผลิตจากมวลชีวภาพที่ผ่านกระบวนการแยกสลายด้วยความร้อนโดยไม่ใช้ออกซิเจน อาจถูกนำมาใช้เพื่อดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 2.6 ล้านล้านกิโลกรัม จาก 40 ล้านล้านกิโลกรัม ที่มนุษย์ผลิตขึ้นในปัจจุบันในแต่ละปี

การขยายงานการผลิตไบโอชาร์ จึงเป็นงานที่ท้าทายไม่น้อย เพราะอุตสาหกรรมการผลิตถ่านชีวภาพประเภทนี้ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ล่าสุดมีการเปิดเผยว่าโรงงานอิฐแดงในเมืองท่าฮัมบูร์กของเยอรมนี หนึ่งในโรงงานที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป ได้รับเปลือกโกโก้ที่ใช้แล้วจากโรงงานช็อกโกแลตที่อยู่ใกล้เคียงมาผลิตไบโอชาร์ ทีมวิจัยจากเซอร์คิวลาร์ คาร์บอน เปิดเผยวิธีผลิตคือให้ความร้อนแก่เปลือกโกโก้ในห้องที่ปราศจากออกซิเจนจนถึงที่อุณหภูมิ 600 องศาเซลเซียส ขณะที่นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมจากสถาบัน UniLaSalle ในฝรั่งเศส เผยว่า ถ่านไบโอชาร์ 1,000 กิโลกรัม สามารถกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 2,500-3,000 กิโลกรัม

 อย่างไรก็ตาม วิธีการผลิตยังคงเป็นเรื่องยากที่จะขยายให้ถึงระดับที่ IPCC ตั้งเป้าไว้ เพราะไม่ใช่ว่าดินทุกประเภทจะปรับตัวได้ดีกับถ่านไบโอชาร์ ปุ๋ยชนิดนี้มีประสิทธิภาพดีกว่าเมื่ออยู่ในสภาพอากาศเขตร้อน ในขณะที่วัตถุดิบเพื่อใช้ในการผลิตก็ไม่ได้มีอยู่ทุกที่ในโลก อีกทั้งต้นทุนการผลิตยังจำกัดอยู่ที่ราวๆ 1,000 ยูโร หรือกว่า 3.7 หมื่นบาท ซึ่งมากเกินไปสำหรับเกษตรกร แต่มีผู้เสนอแนวคิดว่าการขายใบรับรองให้กับบริษัทต่างๆที่ต้องการสร้างสมดุลของการปล่อยคาร์บอนด้วยการผลิตถ่านชีวภาพตามจำนวนที่กำหนด ก็เป็นทางออกที่น่าสนใจ.