ภายใต้ยุคสมัยของกษัตริย์องค์ใหม่ที่โลกไม่ได้หมุนรอบบั๊กกิ้งแฮม หาก “สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่สาม” ทรงปรารถนาจะให้สถาบันมั่นคงแข็งแกร่งปลอดภัยจากการถูกดิสรัปชัน การปรับตัวขนานใหญ่เพื่อความอยู่รอดของสถาบันคงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
โลกจะได้เห็นพระราชาแบบไหนในรัชสมัยของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่สาม? ทรงรู้พระองค์แต่แรกแล้วว่าจะต้องปรับเปลี่ยนท่าทีหลังขึ้นครองราชย์ เพราะคงไม่เหมาะที่จะทรงเป็นตัวของตัวเอง และออกมาแสดงความคิดเห็นอย่างเปิดเผยในประเด็นสาธารณะต่างๆ รวมถึงการทำตัวเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งขัดกับบทบาทใหม่ในฐานะพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ
“เราไม่ได้โง่ขนาดนั้น เรารู้ดีว่าการเป็นกษัตริย์มีบทบาทที่แตกต่างออกไป ใครที่คิดว่ายังไงเสียเราก็คงทำตัวเหมือนเดิม ช่างเหลวไหลสิ้นดี”...“กษัตริย์ชาร์ลส์ที่สาม” พระราชทานสัมภาษณ์แก่สำนักข่าวบีบีซี เมื่อปี 2018 ขณะที่ยังทรงเป็นมกุฎราชกุมาร
...
“กษัตริย์ชาร์ลส์ที่สาม” ทรงขึ้นชื่อว่าเป็น “นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม” มาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ โดยถือเป็นผู้นำโลกยุคแรกๆที่ออกมาพูดถึงปัญหาภาวะโลกร้อน และยังคงรณรงค์เรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่องทศวรรษแล้วทศวรรษเล่า ถึงขนาดเรียกร้องให้ผู้นำประเทศต่างๆทั่วโลกทำสงครามอย่างจริงจังกับสภาวะโลกร้อน
เพื่อเป็นแบบอย่างในการลดปัญหาโลกร้อน ทรงเป็นตัวตั้งตัวตีให้มีการปฏิรูปการใช้พลังงานภายในพระราชวังบั๊กกิ้งแฮมมาอย่างต่อเนื่อง โดยเปลี่ยนมาผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำ ล่าสุด ยังสั่งลดอุณหภูมิของสระว่ายน้ำภายในบั๊กกิ้งแฮม เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย หลังจากเห็นบิลค่าไฟเมื่อปีที่แล้ว พุ่งกระฉูดถึง 3.2 ล้านปอนด์ ซึ่งล้วนแต่เป็นเงินภาษีของประชาชน
เช่นเดียวกับพระราชมารดา “กษัตริย์ชาร์ลส์ที่สาม” มักจะทรงเดินปิดไฟไปทั่ววัง และโปรดเสวยอาหารมังสวิรัติอาทิตย์ละครั้ง พระตำหนักทุกหลังของพระองค์จะต้องติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาเพื่อแปลงพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานไฟฟ้า ทรงใส่ใจเรื่องปัญหาสภาวะโลกร้อน และกระตือรือร้นมากที่จะทำให้บั๊กกิ้งแฮมเป็นแบบอย่างในเรื่องการบรรลุเป้าหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ก่อนกำหนดของรัฐบาลที่ตั้งเป้าไว้ภายในปี 2050
สัญญาณของการปฏิรูปครั้งใหญ่ภายใต้รัชสมัยของ “กษัตริย์ชาร์ลส์ที่สาม” เริ่มส่อเค้ามาตั้งแต่มีคำสั่งให้จัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ใหม่หมด โดยสั่งปลดข้าราชบริพารนับร้อยคนที่สังกัดอยู่ในพระตำหนักคลาเรนส์ เฮาส์ เนื่องจาก “กษัตริย์ชาร์ลส์ที่สาม” และ “สมเด็จพระราชินีคามิลลา” ย้ายไปประทับอย่างเป็นทางการที่พระราชวังบั๊กกิ้งแฮม ซึ่งเป็นศูนย์กลางการบริหารของสถาบันกษัตริย์ งานนี้โดนหางเลขหมดตั้งแต่กรมราชเลขานุการในพระองค์ ซึ่งมีข้าราชบริพารอยู่ในสังกัด 31 คน, กรมกิจการในพระองค์ 12 คน, กรมมหาดเล็ก 28 คน และกรมสนับสนุนในด้านต่างๆ ตลอดจนพ่อครัว 4 คน, พ่อบ้าน 5 คน และบัตเลอร์อีก 2 คน ทั้งนี้สมัยที่ควีนเอลิซาเบธที่สองยังมีพระชนม์ชีพอยู่ ทรงมีข้าราชบริพารในสังกัดมากถึง 491 คน ขณะที่พระตำหนักคลาเรนส์ เฮาส์ มีข้าราชบริพารประจำอยู่ 101 คน
...
สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงยังลามไปถึงการปฏิรูปราชวงศ์ให้กะทัดรัดไม่อุ้ยอ้าย โดยสั่งตัดลดจำนวนพระราชวงศ์ที่ทรงงานอย่างเป็นทางการ เพื่อให้รัฐบาลถวายความดูแลเรื่องงบประมาณให้เหลือแต่ผู้มีความสำคัญต่อการสืบสันตติวงศ์เท่านั้น อันเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะรัดเข็มขัด โดย “เจ้าชายแอนดรูว์” คือหนึ่งในพระราชวงศ์ชั้นสูงที่โดนตัดเงินอุดหนุนประจำปีมากที่สุด เนื่องจากเป็นจุดอ่อนบั่นทอนเสถียรภาพของสถาบัน
ตามรายงานของ “ยาฮู นิวส์” ระบุว่า “เจ้าชายแอนดรูว์” ทรงได้รับข้อเสนอให้ย้ายออกจากพระตำหนักสุดหรู ขนาด 30 ห้อง “รอยัล ลอดจ์” ในเขตพระราชวังวินด์เซอร์ เพื่อไปอยู่พระตำหนักเล็กๆขนาด 5 ห้องนอน อย่าง “ฟร็อกมอร์ คอทเทจ” ซึ่งเป็นที่ประทับเก่าของเจ้าชายแฮร์รีกับพระชายา เนื่องจากหากถูกตัดเงินอุดหนุนประจำปี 250,000 ปอนด์ เจ้าชายแอนดรูว์จะไม่สามารถหาเงินมาจ่ายค่าบำรุงรักษาพระตำหนักขนาดใหญ่บนพื้นที่กว่า 98 เอเคอร์ รวมถึงค่าจ้างพนักงาน และค่าใช้จ่ายด้านการรักษาความปลอดภัย กระนั้น สื่อใหญ่ของอังกฤษ “เมล์ ออน ซันเดย์” อ้างแหล่งข่าวใกล้ชิดระบุว่า เจ้าชายแอนดรูว์ทรงปฏิเสธที่จะเก็บกระเป๋าย้ายออกจากพระตำหนักรอยัล ลอดจ์ ซึ่งประทับมาตั้งแต่ปี 2004 นับตั้งแต่เจ้าของเดิมคือ “ควีนมัม” เสด็จสวรรคต
...
แม้จะมุ่งมั่นปฏิรูปสถาบันและรัดเข็มขัดขนาดไหน แต่ “กษัตริย์ชาร์ลส์ที่สาม” ก็ทรงยืนกรานว่าจะไม่ปล่อยให้พระอนุชาต้องเป็นคนไร้บ้านแน่นอน อันที่จริงทรงช่วย “เจ้าชายแอนดรูว์” ไว้หลายครั้ง รวมถึงทรงออกค่าใช้จ่ายด้านการรักษาความปลอดภัยให้พระอนุชาหลังถูกถอดยศทหาร ย้อนไปสมัยควีนเอลิซาเบธที่สองยังมีพระชนม์ชีพ ก็ทรงควักพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จุนเจือพระราชโอรสองค์รองมาอย่างต่อเนื่อง ออกให้แม้กระทั่งค่าใช้จ่ายหลายล้านปอนด์ในการต่อสู้คดีล่วงละเมิดทางเพศ
เพื่อเป็นแบบอย่างของกษัตริย์ยุคใหม่ “กษัตริย์ชาร์ลส์ที่สาม” ยังทรงเสนอให้ลดการถวายเงินปีส่วนพระมหากษัตริย์ที่ถวายแก่ราชวงศ์ เพื่อนำไปช่วยผ่อนคลายวิกฤติค่าครองชีพของประชาชน เนื่องจากผลการดำเนินงานของโครงการกังหันลมผลิตไฟฟ้านอกชายฝั่ง 6 แห่ง ที่ลงทุนโดยสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ มีกำไรเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ทรงเสนอให้แบ่งเงินกำไรที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งมอบให้กระทรวงการคลังนำไปใช้จ่ายเพื่อประโยชน์ของประชาชน แทนการส่งเงินเข้าสู่ท้องพระคลัง
...
ทรงปฏิรูปตัวเองโดยไม่ต้องรอให้มีเสียงเรียกร้องจากประชาชน สมแล้วที่เป็น “กษัตริย์หัวก้าวหน้า” ในยุคสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง!!
ทีมข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ