การรักษานักบินอวกาศให้ได้รับสารอาหารอย่างดีเป็นระยะเวลานาน ภายในขอบเขตจำกัดของยานของสถานีอวกาศนานาชาติ ที่มีแรงโน้มถ่วงเป็นศูนย์ในวงโคจรต่ำของโลก ถือเป็นสิ่งที่ท้าทายในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาสำหรับองค์การนาซา สหรัฐอเมริกา เนื่องจากลูกเรือบนสถานีอวกาศนานาชาติต้องใช้ชีวิตอยู่กับการบริโภคอาหารที่ส่วนใหญ่เป็นอาหารสำเร็จรูป แม้จะมีวัตถุดิบสดใหม่แต่ก็เป็นแค่ส่วนหนึ่ง เพราะบนสถานีอวกาศนานาชาติได้ทดลองปลูกผักหลายชนิดในวงโคจร เช่น ผักกาดหอม กะหล่ำปลี คะน้า และพริก

ทว่าความจำเป็นในการผลิตอาหารและต้องการทรัพยากรน้อยที่สุดนั้น เริ่มชัดเจนมากขึ้นเมื่อนาซาตั้งเป้าที่จะส่งนักบินอวกาศกลับสู่ดวงจันทร์และส่งไปสำรวจดาวอังคาร รวมถึงดวงดาวอื่นๆในอนาคต จึงเร่งพัฒนาความก้าวหน้าในการผลิตอาหารบนอวกาศ ซึ่งนอกจากเลี้ยงชีพนักบินอวกาศ ยังอาจนำไปใช้โดยตรงในการเลี้ยงประชากรโลกด้วย เพราะเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้อาหารหายากขึ้นและผลิตยากขึ้น ล่าสุดบริษัทแอร์ คอมปานี (Air Company) ในเขตบรู๊คลิน ในสหรัฐฯ เผยว่า ได้บุกเบิกวิธีการรีไซเคิลก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่นักบินอวกาศหายใจออกมาขณะอยู่ในอวกาศ มาเพาะเลี้ยงสารอาหารจากยีสต์เพื่อทำโปรตีนเชก (Protein Shakes) คือโปรตีนผงชงดื่มเพื่อทดแทนมื้ออาหารและมีคุณค่าทางโภชนาการครบ โปรตีนเชกนี้ออกแบบมาเพื่อหล่อเลี้ยงชีพลูกเรือในภารกิจห้วงอวกาศที่มีระยะเวลายาวนาน

...

นักวิจัยจากบริษัทดังกล่าวเผยว่า เวย์โปรตีนเชกของพวกเขา หากเปรียบรสชาติก็คล้ายกับเซตัน (Seitan) ซึ่งเป็นอาหารคล้ายเต้าหู้ที่ทำจากกลูเตนข้าวสาลี เป็นส่วน ประกอบอาหารที่พบได้ทั่วไปในอาหารมังสวิรัตินั่นเอง.