อูฐถือเป็นสัตว์ที่เป็นที่ชื่นชอบและสามารถสร้างรายได้มหาศาลจากการประกวดแข่งขันประชันความงามและชิงชัยในการวิ่งแข่งกัน การโคลนนิง (cloning) อูฐจึงกลายเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ในภูมิภาคอ่าวอาหรับ ซึ่งมีรายงานข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศว่านักวิทยาศาสตร์ชื่อนีซาร์ วานี ที่เดิมทีเป็นสัตวแพทย์ที่จบปริญญาเอกด้านการสืบพันธุ์ของสัตว์ ได้โคลนนิงอูฐครั้งแรกของโลกในปี 2552 และตอนนี้ผลิตซ้ำอูฐปีละกว่าสิบตัวในห้องทดลองที่นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

นักวิทยาศาสตร์เผยว่า เก็บไข่จากรังไข่ของสัตว์ที่ถูกฆ่าไปประกอบอาหาร และบ่มไข่ในห้องทดลองเป็นเวลา 24 ชั่วโมง ก่อนจะไปถึงขั้นตอนที่สามารถใช้ในกระบวนการโคลนนิง ซึ่งการโคลนนิงสัตว์เพื่อการสืบพันธุ์ใช้กระบวนการถ่ายฝากนิวเคลียสของเซลล์ร่างกาย (somatic cell nuclear transfer) โดยดีเอ็นเอจะถูกลบออกจากเซลล์ไข่อูฐ และแทนที่ด้วยดีเอ็นเอจากเซลล์ร่างกายที่ถูกแช่แข็งของอูฐ เซลล์เหล่านี้มีคุณภาพบางอย่าง เช่น ด้านความเร็วหรือความสวยงาม จากนั้นไข่จะพัฒนาเป็นตัวอ่อนโดยไม่ต้องใช้สเปิร์มหรือเซลล์สืบพันธุ์ที่จะปฏิสนธิกับไข่ อย่างไรก็ตาม การโคลนนิงสัตว์ใช้เวลานานและมีอัตราความสำเร็จต่ำ นักวิทยาศาสตร์เผยว่าจากตัวอ่อนจำนวน 100 ตัว ที่ถ่ายฝากนิวเคลียสของเซลล์ร่างกาย สามารถพัฒนาเป็นตัวอ่อนได้ 5-10 ตัว และบางทีอาจมีได้ทารกอูฐ 3-6 ตัว

...

นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์ยังใช้เทคโนโลยีการโคลนนิงระหว่างสายพันธุ์ เพื่ออนุรักษ์สายพันธุ์ที่ถูกคุกคาม.