- สถาบันนักคิดสหรัฐฯ 'บรูกกิงส์' ชี้การเลือกตั้ง 2566 ในไทยครั้งนี้ คือการเลือกตั้งแห่งศตวรรษของไทย ที่อาจจะส่งผลต่อเนื่องทางการเมืองมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2519
- สถาบันบรูกกิงส์ วิเคราะห์ชัยชนะของพรรคก้าวไกล ที่โค่นพรรครัฐบาล และนำความปราชัยมาสู่พรรคเพื่อไทย แสดงให้เห็นว่าคนไทยที่มีสิทธิ์เลือกตั้ง รู้สึก 'พอแล้ว' กับความขัดแย้งทางการเมืองอันยาวนาน จนต้องการเห็นการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงในประเทศ
- สื่อใหญ่สหรัฐฯ อย่างนิวยอร์กไทม์ส ชวนให้คิดกันต่อ แม้พิธา ลิ้มเจริญรัตน์จะนำพรรคก้าวไกลชนะเลือกตั้ง แต่หนทางสู่การเป็นนายกฯ คนใหม่ของไทยยังไม่แน่นอน เพราะติด 'ด่านส.ว.' ที่มาจากการแต่งตั้ง ทว่าสถาบันนักคิดสหรัฐฯ ยังมองในแง่ดีว่า เวลานี้ และคนไทยที่มีสิทธิ์เลือกตั้ง กำลังอยู่ข้างการปฏิรูป
สื่อต่างประเทศยังคงติดตามการเลือกตั้งทั่วไปในประเทศไทยเมื่อ 14 พ.ค. ที่ผ่านมา เมื่อพรรคก้าวไกล นำโดย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สามารถโค่นพรรครัฐบาล คว้าชัยชนะในการเลือกตั้ง ได้ ส.ส.เข้าไปนั่งในสภาถึง 151 ที่นั่ง และยังนำความปราชัยมาสู่พรรคเพื่อไทย ที่ตั้งเป้าจะคว้าชัยชนะแบบแลนด์สไลด์ในการเลือกตั้งครั้งนี้
...
สถาบันนักคิดสหรัฐฯ ชี้เป็นการเลือกตั้งแห่งศตวรรษของไทย
เว็บไซต์ของ สถาบันบรูกกิงส์ (Brookings Institute) ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาด้านสาธารณะของสหรัฐฯ ชี้ถึงการเลือกตั้งทั่วไปครั้งนี้ว่าอาจกลายเป็นการเลือกตั้งแห่งศตวรรษของไทย ที่ส่งผลต่อเนื่องทางการเมืองตามมาในประเทศไทยมากที่สุด นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2519 เมื่อพรรคก้าวไกล (Move Forward Party) สามารถคว้าชัยในการเลือกตั้ง โค่นล้มพรรครัฐบาลที่กำลังบริหารประเทศ
พรรคก้าวไกล ซึ่งเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย มีแพลตฟอร์มนโยบายเรื่องการปฏิรูป และมีเป้าหมายลดอำนาจทหารที่สนับสนุนรัฐบาลที่มาจากการก่อรัฐประหารยึดอำนาจในปี 2557 กลายเป็นพรรคที่ชนะการเลือกตั้งได้ ส.ส.เข้าไปนั่งในสภาผู้แทนฯ 151 ที่นั่งจากทั้งหมด 500 ที่นั่ง
ชี้คนไทย 'พอแล้ว' กับความขัดแย้งทางการเมืองมานาน
สถาบันบรูกกิงส์ วิเคราะห์ว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ของไทยยังเป็นความปราชัยของพรรคเพื่อไทย ที่ชูนโยบายประชานิยม และมีความเกี่ยวข้องกับอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรที่ลี้ภัยตัวเองอยู่ในต่างแดน
พรรคเพื่อไทยคาดหวังจะได้ ส.ส.เข้าไปนั่งในสภาถึง 200 ที่นั่ง และได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ แต่กลับกลายเป็นชนะอันดับสอง ได้ ส.ส. 141 ที่นั่ง
ในขณะที่ พรรคก้าวไกล ยังกวาดชัยชนะในการเลือกตั้งที่กรุงเทพฯ ถึง 32 เขต จากทั้งหมด 33 เขต แพ้เพียงเขตเดียวให้แก่พรรคเพื่อไทย และพ่ายแพ้เพียง 4 คะแนนเท่านั้น อีกทั้งพรรคก้าวไกลยังสามารถไปตีฐานที่มั่นทางภาคเหนือของพรรคเพื่อไทยจนแตก ได้ ส.ส.มากที่สุดใน 3 จังหวัดใหญ่ที่สุดทางภาคเหนือของไทยด้วย
สถาบันนักคิด บรูกกิงส์ มองว่า ผลการเลือกตั้งในประเทศไทยที่ออกมาเช่นนี้แสดงให้เห็นว่า คนไทยที่มีสิทธิ์เลือกตั้งรู้สึก 'พอแล้ว' กับการต่อสู้อันยาวนานระหว่างกลุ่มทักษิณ กับฝ่ายตรงข้ามที่กองทัพหนุนหลัง
จึงทำให้นโยบายปฏิรูปของพรรคก้าวไกล คือ ทางเลือกที่ได้รับความนิยมมากกว่า โดยขณะนี้ภูมิทัศน์ทางการเมืองของไทยดูเหมือนถูกวาดใหม่ทั้งหมด
สื่อสหรัฐฯ มองหนทางเป็นนายกฯ คนใหม่ ยังไม่แน่นอน
จากการคว้าชัยชนะเป็นอันดับหนึ่งในการเลือกตั้ง ทำให้พรรคก้าวไกลได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งพรรครัฐบาลร่วมกับพรรคเพื่อไทยและพรรคฝ่ายค้านอื่นๆ ทำให้มีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนฯ แล้ว 312 ที่นั่ง จาก 500 ที่นั่ง ในขณะที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้กำหนดเวลา 60 วันในการรับรองผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ หลังวันเลือกตั้ง
...
แต่ตามความเห็นของนิวยอร์กไทม์ส สื่อใหญ่ในสหรัฐฯ ยังคงมองว่า ถึงแม้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ นำพรรคก้าวไกลชนะเลือกตั้งทั่วไปในครั้งนี้ ด้วยคำสัญญาว่าจะเปลี่ยนแปลงประเทศ แต่เขาจะได้รับอนุญาตจากทหารให้เป็นผู้นำประเทศหรือ?
เพราะการที่ พิธา หัวหน้าพรรคก้าวไกล จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของไทยนั้น เขาจะต้องได้รับเสียงสนับสนุนจากสมาชิกรัฐสภา 376 เสียง หรือเกินครึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 500 ที่นี่ง และวุฒิสมาชิก 250 ที่นั่ง ที่มาจากการแต่งตั้ง รวมเป็น 750 ที่นั่ง
ในขณะนี้ พรรคก้าวไกล ซึ่งจับมือกับพรรคฝ่ายค้าน 8 พรรค ได้ ส.ส.รวมกันอยู่ที่ 313 เสียงเท่านั้น แต่ พิธา ต้องการได้คะแนนเสียงสนับสนุน 376 เสียง จึงจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของไทย
จับตาแต่งตั้ง ส.ว. สมัยหน้า
...
อย่างไรก็ตามแม้ผลลัพธ์จะออกมาเป็นเช่นไร แต่สิ่งหนึ่งที่ได้ถูกกำหนด เหมือนสลักลงบนหินแล้วนั้นคือ อำนาจของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)ที่จะให้การรับรองนายกรัฐมนตรีคนใหม่นั้น จะสิ้นสุดลงในเดือนมีนาคม 2567
ส.ว.ชุดใหม่ของไทยจะได้รับการแต่งตั้งในดำรงตำแหน่งเป็นระยะเวลา 5 ปี โดยรัฐบาลชุดใหม่ที่เข้ามาบริหารประเทศ
สถาบันบรูกกิงส์ มองว่า ดูเหมือนจะมีทางเดียวที่จะคงอำนาจวุฒิสภาให้อยู่ในสถานะปัจจุบันได้ คือ ทหารจะก่อรัฐประหารอีกครั้ง และมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือไม่ก็พรรคเพื่อไทยได้เป็นแกนนำตั้งรัฐบาล และจะมีการทบทวนหลักการเหล่านี้ พร้อมกับเปิดทางให้มี 'ทหารเก่า' เข้ามาเป็นวุฒิสมาชิกเพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม สถาบันนักคิดสหรัฐฯ บรูกกิงส์ มองว่า ทั้งสองสถานการณ์นี้ดูเหมือนไม่น่าจะเป็นไปได้ และหากทำเช่นนี้จริง ก็จะถือเป็นการ 'ฆ่าตัวตายทางการเมือง' ของพรรคเพื่อไทย
ชี้ 'เวลา' และผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง อยู่ข้างการปฏิรูป
'เวลา' ดูเหมือนขณะนี้อยู่ฝ่ายพรรคก้าวไกล และเติบโตอย่างรวดเร็วเพราะต้องการเห็นการปฏิรูป โดยฐานคะแนนเสียงของพรรคก้าวไกลจำนวนมากคือกลุ่มคนอายุต่ำกว่า 40 ปี ที่ดูเหมือนไม่ได้ถูกจูงใจโดยนโยบายประชานิยม หรือนโยบายที่เป็นขนบเดิมๆ ที่พรรคการเมืองต่างๆ นำมาใช้หาเสียง
...
ตอนนี้ พรรคก้าวไกล ได้เคาะลงไปในเรื่องการปฏิรูปบนฐานที่ครอบคลุมที่สุดคือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนและได้รับการสนับสนุนจากการหย่อนบัตรลงคะแนนเสียงในหีบเลือกตั้ง.
ที่มา : Brookings Institue, nytimes