ลองนึกภาพดาวเคราะห์ขนาดเท่าโลกแต่จริงๆแล้วไม่เหมือนโลกเลย เนื่องจากครึ่งหนึ่งของดาวเคราะห์ดวงนั้นมีช่วงเวลากลางวันแบบถาวร และอีกครึ่งหนึ่งอยู่ในช่วงกลางคืนแบบถาวร แถมดาวยังถูกปกคลุมไปด้วยภูเขาไฟที่ยังปะทุอยู่ ซึ่งนักดาราศาสตร์ได้ค้นพบดาวเคราะห์แบบนี้แล้ว โดยใช้ข้อมูลจากดาวเทียมเทสส์ ที่ใช้สำรวจดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ และกล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์ที่ปลดระวางไปแล้วของนาซา
นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ริเวอร์ไซด์ ในสหรัฐอเมริกา เผยว่า ดาวเคราะห์ดังกล่าวมีชื่อว่า LP 791-18d กำลังโคจรรอบดาวแคระแดงขนาดเล็ก อยู่ห่างออกไปราว 90 ปีแสง ในระบบดาวแห่งนี้ยังมีสมาชิกที่อาศัยอยู่ร่วมกันคือ LP 791-18b และ LP 791-18c ซึ่งดาวเคราะห์ชั้นนอก LP 791-18c มีขนาดใหญ่กว่าโลกประมาณ 2.5 เท่า และมีมวลมากกว่าเกือบ 9 เท่า ในแต่ละวงโคจรรอบดาวฤกษ์ ดาวเคราะห์ LP 791-18c และ LP 791-18d จะผ่านเข้ามาใกล้กันมาก ขนาดที่ใหญ่โตของ LP 791-18c จะสร้างแรงโน้มถ่วงที่ทำให้วงโคจรของ LP 791-18d เป็นวงรีมากกว่าที่จะเป็นวงกลมอย่างสมบูรณ์ วงโคจรที่ผิดรูปเหล่านี้สร้างแรงเสียดทานที่ทำให้ภายในดาวเคราะห์ร้อนขึ้น ทำให้เกิดการปะทุของภูเขาไฟที่พื้นผิวบน LP 791-18d
หลายคนอาจมีคำถามว่าแล้วเหตุใดภูเขาไฟจึงมีความสำคัญ นักดาราศาสตร์เฉลยว่ามันเป็นแหล่งสำคัญที่ทำให้เกิดชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์ และด้วยชั้นบรรยากาศก็จะมีน้ำที่อยู่ในสถานะของเหลวบนพื้นผิวดาว ซึ่งน้ำเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตนั่นเอง.