- ผลการศึกษาชี้ น้ำในทะเลสาบทั่วโลกลดลงอย่างมหาศาล ต่อเนื่องในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา โดยมีปัจจัยสำคัญจากสภาพอากาศเปลี่ยน รวมทั้งการอุปโภคและบริโภคของมนุษย์
- นักวิจัยใช้ข้อมูลของแหล่งน้ำจืด ทั้งทะเลสาบและอ่างเก็บน้ำจากดาวเทียมทั่วโลก ประกอบกับโมเดลสภาพอากาศไฮดรอลิก นับตั้งแต่ 1992 จนถึงปี 2020 เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งมีความน่าเชื่อถือกว่าการเก็บข้อมูลที่ผ่านมา
- นับว่าการลดลงของแหล่งน้ำจืดที่พบครั้งนี้ เร็วกว่าที่นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์เอาไว้ และทำให้หลายฝ่ายต้องตระหนักถึงความสำคัญในการวางกลยุทธ์บริหารจัดการน้ำอย่างเร่งด่วน
งานวิจัยชิ้นใหม่ที่เผยแพร่ในวารสารวิทยาศาสตร์ "สมาคมอเมริกันเพื่อความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์" ค้นพบว่า ปริมาณน้ำตามทะเลสาบขนาดใหญ่และอ่างเก็บน้ำกว่าครึ่งหนึ่งของโลกกำลังลดลงอย่างรวดเร็ว เนื่องมาจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ ทั้งการสร้างเขื่อน การอุปโภคบริโภคน้ำ รวมทั้งสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงและประชากรราว 1 ใน 4 ของโลก จะต้องได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน
ข้อสรุปครั้งนี้ ได้มาจากการรวบรวมการวัดค่าจากดาวเทียมทั่วโลก และใช้โมเดลสภาพอากาศและไฮดรอลิก เพื่อตรวจจับระดับน้ำกักเก็บในทะเลสาบและในอ่างเก็บน้ำเกือบ 2,000 แห่งทั่วโลก ตั้งแต่ช่วงปี 1992 จนถึงปี 2020 จนพบว่าปริมาณน้ำราว 53 เปอร์เซ็นต์ ลดลงไปในช่วงกว่า 28 ปีที่ผ่านมา ในอัตราราว 22 กิกะตัน หรือราว 1 พันล้านเมตริกตันต่อปี ซึ่งแทบจะเท่ากับปริมาณการใช้น้ำทั้งประเทศสหรัฐอเมริกาใน 1 ปี โดยพบการลดลงทั้งในภูมิภาคที่น้ำแล้ง รวมทั้งภูมิภาคที่เผชิญฝนตกหนักและมีน้ำมากเช่นเดียวกัน
...
ฟางเหยา นักอุทกวิทยาผิวดินแห่งมหาวิทยาลัยโคโลราโด โบลเดอร์ ระบุว่า การลดลงของปริมาณน้ำที่พบนี้ จะส่งผลกระทบต่อประชากรราว 1 ใน 4 ของประชากรโลก และยังมีแนวโน้มว่าจะเป็นแบบนี้มากขึ้นอีก หากยังไม่มีการดำเนินการแก้ไขเรื่องสภาพอากาศเปลี่ยน หรือคุมเข้มการใช้น้ำของมนุษย์ให้มากขึ้น โดย นายเหยา ระบุว่า การศึกษาก่อนหน้านี้ มักจะสรุปว่าพื้นที่ใดที่แห้งแล้งก็จะแล้งมากขึ้น และพื้นที่ใดชุ่มชื้นก็จะมีน้ำมากขึ้น แต่จากการศึกษาล่าสุดนี้ ได้ผลลัพธ์ที่แตกต่าง เพราะพบว่าแม้ในภูมิภาคที่มีความชุ่มชื้น แต่ด้วยสภาวะอากาศเปลี่ยนและโลกร้อน วัฏจักรของน้ำในสภาพอากาศเช่นนี้ จะไม่ช่วยทำให้มีปริมาณน้ำเพื่อเก็บกักมากขึ้นแต่อย่างใด เนื่องจากการระเหยของน้ำที่เพิ่มขึ้น และการใช้เวลาในการฟื้นตัวจากภัยแล้งที่ยาวนานขึ้น
นอกจากนี้ ยังพบว่าระดับน้ำในทะเลสาบที่ลดระดับลงส่วนใหญ่ มักจะเป็นพื้นที่ที่มีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น ทั้งในสหรัฐอเมริกา เอเชียกลาง ตะวันออกกลาง อินเดียตะวันตก จีนตะวันออก ตอนเหนือและตะวันออกของยุโรป ตอนเหนือของแคนาดา ทางใต้ของแอฟริกา พื้นที่ส่วนมากของอเมริกาใต้และโอเชียเนีย ซึ่งรวมถึงออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และปาปัวนิวกินี โดยพื้นที่ที่จะกระทบมากที่สุดจะเป็นทะเลซอลตัน ในแคลิฟอร์เนีย ทะเลสาบเกรตซอลต์ ในรัฐยูทาห์ และทะเลสาบก็อดซาเรห์ ในอัฟกานิสถาน โดยน้ำที่เคยนำมาใช้ได้ตอนนี้ ไม่เหมาะที่จะนำมาดื่มได้อีกแล้ว เพราะมีความเข้มข้นของเกลือสูง และจะส่งผลให้ระบบนิเวศในภูมิภาคได้รับผลกระทบ จนทำให้สัตว์หลากหลายสายพันธุ์ไม่สามารถอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมเช่นนี้ได้ ขณะที่มนุษย์จะขาดแหล่งน้ำทำการเกษตร และไม่มีน้ำพอใช้สำหรับอุปโภคและบริโภคอีกต่อไป
การศึกษาครั้งนี้ ยังมีการวิเคราะห์ไปถึงการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำตามอ่างเก็บน้ำ หรือเขื่อน ซึ่งมนุษย์สร้างขึ้นด้วย โดยพบว่าปริมาณน้ำลดลงอย่างมีนัยสำคัญราว 2 ใน 3 ของปริมาณน้ำทั้งหมด ส่วนใหญ่เกิดจากการตกตะกอนจากเศษหินดินทรายที่ย่อยสลาย หรือพังทลาย ทำให้พื้นที่จุน้ำลดลง โดย นายเหยา ระบุว่า ในอนาคตอ่างเก็บน้ำจะไม่สามารถเป็นแหล่งเก็บน้ำจืดที่พี่งพาได้อีกต่อไป รวมทั้งไม่สามารถจะหวังพึ่งให้เป็นแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานน้ำในระยะยาวได้เช่นกัน
แม้ว่าทะเลสาบทั่วโลกจะคิดเป็นเพียงพื้นที่ราว 3 เปอร์เซ็นต์ของทั้งโลก แต่ทะเลสาบเหล่านี้ ก็เป็นแหล่งน้ำจืดตามธรรมชาติของโลกถึง 87 เปอร์เซ็นต์ การค้นพบในครั้งนี้จึงเป็นการเน้นย้ำความสำคัญของกลยุทธ์ ที่จะนำมาใช้ในการบริหารจัดการแหล่งน้ำผิวดิน รวมถึงการนำการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และผลกระทบจากการตกตะกอนมาใช้ในการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน เพื่อให้ผลกระทบที่จะตามมาลดระดับความรุนแรงลงให้มากที่สุด ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป.
...
ผู้เขียน : อาจุมมาโอปอล
ที่มา : เอบีซีนิวส์, วอชิงตันโพสต์, เดอะการ์เดียน