ทุกวันนี้ผู้บริโภคตระหนักถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและจริยธรรมด้านอาหารมากขึ้น เนื้อสัตว์ที่เพาะเลี้ยงในห้องปฏิบัติการกลายเป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมมากขึ้น การผลิตเนื้อสัตว์จากเซลล์จากสัตว์มาเพาะเลี้ยงจะทำบนโครงสร้าง 3 มิติที่เรียกว่าโครงเลี้ยงเซลล์ ซึ่งช่วยพยุงโครงสร้างเมื่อเซลล์เพิ่มจำนวนและพัฒนาเป็นเนื้อเยื่อ

อย่างไรก็ตาม โครงเลี้ยงเซลล์มักทำจากวัสดุสังเคราะห์หรือวัสดุจากสัตว์ ซึ่งมีราคาแพงเกินไปหรือกินไม่ได้ นักวิจัยจึงพยายามมองหาทางเลือกอื่น ล่าสุดทีมวิจัยนำโดยนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์เผยว่า ได้หันมาใช้โปรตีนจากพืชที่รู้กันดีว่าย่อยสลายได้ทางชีวภาพและเข้ากันได้กับเซลล์สัตว์ อีกประการสำคัญคือ โปรตีนจากพืชยังตอบสนองความต้องการทั่วไปสำหรับการบริโภคอาหาร ทำให้เป็นโครงเลี้ยงเซลล์ที่เหมาะสมต่อการเพาะเลี้ยงเนื้อสัตว์ ทีมวิจัยระบุว่าด้วยการใช้โพรลามิน (Prolamins) เป็นตระกูลของโปรตีนที่ได้จากธัญพืชที่หาได้ง่าย มาสร้างเป็นวัสดุชีวภาพสำหรับเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติที่มีความแม่นยำสูง

นักวิจัยใช้ส่วนผสมของโพรลามินที่ได้จากแป้งข้าวโพด ข้าวบาร์เลย์ และข้าวไรย์ นั่นก็คือสาร zeins, hordeins และ secalins ตามลำดับ สารผสมเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นหมึกสำหรับการพิมพ์ ด้วยเทคโนโลยีพิมพ์ 3 มิติที่มีความแม่นยำสูง ใช้กันทั่วไปในงานด้านชีวการแพทย์ และการประเมินว่าโครงเลี้ยงเซลล์ที่ทำจากโพรลามินเหมาะสมต่อการเพาะเลี้ยงเนื้อสัตว์หรือไม่ หลังทำการทดลองให้จุ่มลงในอาหารเลี้ยงเซลล์และตรวจสอบใน 7 วันต่อมา ว่ามีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างใดๆภายใต้กล้อง จุลทรรศน์อิเล็กตรอนหรือไม่ ก็พบว่าเนื้อเยื่อเซลล์ได้ยึดโครงสร้างเซลล์ไว้และไม่พังทลาย.

Credit : National University of Singapore

...