เมียนมาประกาศให้รัฐยะไข่เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติธรรมชาติ หลังจากไซโคลน โมคา พัดถล่มเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา จนทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 6 ศพ
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ไซโคลน โมคา (Mocha) เคลื่อนตัวขึ้นฝั่งระหว่างบังกลาเทศกับเมียนมาเมื่อวันอาทิตย์ (14 พ.ค. 2566) ในฐานะไซโคลนระดับ 5 ซึ่งเป็นขั้นสูงสุด ทำให้มันกลายเป็นหนึ่งในพายุรุนแรงที่สุดที่พัดเล่นงานอ่าวเบงกอลในรอบศตวรรษที่ผ่านมา
ไซโคลนโมคาไม่ได้ขึ้นฝั่งบริเวณเมืองค็อกซ์บาซาร์ ของบังกลาเทศ ซึ่งเป็นที่ตั้งค่ายผู้อพยพขนาดใหญ่สุดในโลก อย่างที่กังวลกันก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตาม พายุสร้างความเสียหายอย่างหนักบริเวณชายฝั่งของเมียนมา ทำลายบ้านเรือนและที่พักชั่วคราวไปหลายร้อยหลัง
พายุยังทำให้เกิดฝนตกหนัก ลมแรง และคลื่นพายุหนุนซัดฝั่ง หรือ สตอร์มเซิร์จ ในพื้นที่ลุ่มต่ำของรัฐยะไข่ โดยเฉพาะที่เมืองท่า ซิตตเว ซึ่งเป็นเมืองเอกของรัฐ สร้างความเสียหายไม่น้อยกว่า 90% ของเมือง และทำให้ระบบการสื่อสารล่ม เนื่องจากกระแสลมความเร็วถึง 209 กม./ชม. พัดเสาสัญญาณหักโค่น
มีรายงานพบผู้เสียชีวิต 6 รายที่เมืองซิตตเว รวมถึงเด็กหนุ่มวัย 14 ปี ผู้ถูกต้นไม้ล้มทับ พายุโมคายังพัดทำลายแคมป์ผู้อพยพโรฮีนจาในเมืองเจาะพยู (Kyaukpyu) ของรัฐยะไข่ด้วย ก่อนที่รัฐบาลทหารเมียนมาจะตัดสินใจประกาศให้รัฐแห่งนี้เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติ
ส่วนที่บังกลาเทศ เจ้าหน้าที่ระบุว่าพายุไม่ได้สร้างความเสียหายขนาดใหญ่ แม้จะเกิดดินถล่มกับน้ำท่วมหลายจุด แต่จนถึงตอนนี้ยังไม่มีรายงานพบผู้เสียชีวิต โดยพวกเขาอพยพประชาชนผู้อาศัยบริเวณชายฝั่งไปล่วงหน้าแล้วกว่า 750,000 คน
ที่ค่ายผู้อพยพชาวโรฮีนจาในเมืองค็อกซ์บาซาร์ มีที่พักชั่วคราวได้รับความเสียหายเพราะแรงลมมากกว่า 1,300 หลัง มัสยิดกับศูนย์การเรียนรู้รวม 16 แห่งก็เสียหายด้วย พายุยังทำให้ต้นไม้หักโค่นและเกิดดินถล่มใกล้ค่ายผู้อพยพ แต่ไม่มีรายงานพบผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตแต่อย่างใด
...
ที่มา : bbc