ในปี 2560 นักดาราศาสตร์ค้นพบเงาทอดผ่านหน้าจานฝุ่นก๊าซรูปทรงแพนเค้กขนาดใหญ่ล้อมรอบดาวฤกษ์ประเภทดาวแคระแดงอยู่ ซึ่งเงาไม่ได้มาจากดาวเคราะห์ที่อยู่ในระบบดาวแห่งนี้ แต่มาจากจานฝุ่นก๊าซ ซึ่งวงที่อยู่ด้านในจะมีความเอียงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับจานฝุ่นที่อยู่วงนอกซึ่งใหญ่กว่ามาก ทำให้เกิดเงาขึ้นมา คำอธิบายหนึ่งคือแรงโน้มถ่วงของดาวเคราะห์ที่มองไม่เห็นได้ดึงฝุ่นและก๊าซเข้าสู่วงโคจรเอียงๆของดาวเคราะห์

ระบบดาวแคระแดงแห่งนี้มีชื่อว่า TW Hydrae มีอายุน้อยกว่า 10 ล้านปีและอยู่ห่างออกไปประมาณ 200 ปีแสง นักดาราศาสตร์เผยว่า ในวัยเยาว์ของระบบสุริยะเมื่อประมาณ 4,600 ล้านปีก่อน อาจมีลักษณะคล้ายกับระบบดาวแห่งนี้ เนื่องจากระบบดาว TW Hydrae เอียงเกือบจะหันหน้าเข้าหามุมมองที่เห็นจากโลก จึงเป็นเป้าหมายที่เหมาะสมที่สุดต่อการสอดส่องดูการก่อสร้างดาวเคราะห์ ทว่าสิ่งที่น่าแปลกใจของระบบดาว TW Hydrae ก็คือ เงาที่ 2 ถูกค้นพบในการสังเกตการณ์ที่ได้รับ เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.2564 จากโครงการติดตามเงาในจานฝุ่นก๊าซรอบดวงดาว และข้อมูล TW Hydrae มาจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลนั่นเอง

นักดาราศาสตร์จากสถาบันวิทยาศาสตร์กล้องโทรทรรศน์อวกาศ เผยว่า ถ้าจะให้คำอธิบายที่ง่ายที่สุดก็คือจานฝุ่นก๊าซที่เอียงไม่ตรงแนว น่าจะเกิดจากแรงดึงดูดของดาวเคราะห์ 2 ดวงในระนาบการโคจรที่แตกต่างกันเล็กน้อย ซึ่งดาวเคราะห์ 2 ดวงต้องอยู่ใกล้กันพอสมควร และดวงหนึ่งเคลื่อนที่เร็วกว่าอีกดวงหนึ่งมาก.

Credit : NASA, AURA/STScl for ESA, Leah Hustak (STScl)

...