ทุกครั้งที่พูดถึงปัญจาบ จะต้องพูดให้ชัดเจนนะครับ ว่าปัญจาบของอินเดียหรือของปากีสถาน บางคนเรียกปัญจาบของอินเดียว่าปัญจาบีซูบา เป็นรัฐทางเหนือของประเทศอินเดีย มีพื้นที่เท่ากับภาคตะวันออกของไทยคือประมาณ 5 หมื่นตารางกิโลเมตร มีประชากร 27 ล้านคน เมืองหลวงชื่อจัณฑีครห์ เมืองสำคัญๆ ก็มีลูเธียนา อมฤตสาร์ และชัลลันทุระ

ส่วนแคว้นที่อยู่ทางตะวันตกของปากีสถานชื่อแคว้นปัญจาบเช่นกัน มีพื้นที่เท่ากับภาคอีสานของไทยคือประมาณ 2 แสนตารางกิโลเมตร มีประชากร 110 ล้านคน เมืองหลวงชื่อละฮอร์ เมืองดังๆของแคว้นปัญจาบปากีสถานก็เช่น ไฟซาลาบาด ราวัลปินดี มุลตาน และกุชรันวาลา ตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ.1947 จากแคว้นปัญจาบเดิมของอินเดียและปากีสถานรวมกัน ยกเลิกความเป็นแคว้นเมื่อ ค.ศ.1955 และสถาปนาขึ้นใน ค.ศ.1970

ครอบครัวของผมเป็นชาวพุทธ แต่เราก็ไปกราบนมัสการพระคัมภีร์ที่วัดซิกข์ศรีคุรุสิงห์สภา ถนนจักรเพชร แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ หลายครั้ง ครั้งล่าสุดก็คือวันอาทิตย์ที่ 7 พฤษภาคม 2023 บรรพบุรุษของชาวซิกข์ส่วนใหญ่มาจากรัฐปัญจาบ เพื่อนของพ่อคือคุณเปรมจิต ซิงห์ อนันด์วาล ผู้เป็นชาวซิกข์ เข้ามาบอกกับพ่อผมว่า “ผมมีข่าวดีนะ คณะกรรมการบริหารของธนาคารโลกลงมติเลือกชาวซิกข์ที่มีชื่อว่าอาเจย์ บังกา เป็นประธานธนาคารโลกคนใหม่”

บังกาเป็นชาวซิกข์เกิดในอินเดีย เรียนชั้นประถมและมัธยมที่ชิมลาและไฮเดอร์ราบัด จบปริญญาตรีทางเศรษฐศาสตร์จากวิทยาลัยเซนต์สตีเฟน กรุงเดลี จบ PGP ด้านการจัดการ (เทียบเท่าปริญญาโท) จากสถาบันการจัดการเมืองอัห์มดาบาด รัฐคุชราต และได้รับสัญชาติอเมริกันใน ค.ศ.2007 ทำงานกับซิตี้กรุ๊ปเมื่อ ค.ศ.1996-2009 และมาสเตอร์การ์ด ค.ศ.2010-2021 ไต่เต้าจนเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทบัตรเครดิตมาสเตอร์การ์ด

...

คนที่เสนอชื่อของบังกาให้เป็นประธานธนาคารโลกในวาระนี้คือโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไบเดนบอกว่าบังกาจะเป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง บังกาจะนำปัญหาภาวะโลกร้อนเข้าไปรวมอยู่ในความท้าทายที่ธนาคารโลกต้องเผชิญในการทำงานร่วมกับประเทศกำลังพัฒนาได้เป็นอย่างดี “บังกาจะนำสถาบันการเงินแห่งนี้ (ธนาคารโลกหรือเวิลด์แบงก์) ผ่านการเปลี่ยนแปลงเพื่อรับมือกับความท้าทายของโลกไปสู่ภารกิจหลักของธนาคารได้อย่างดี นั่นคือการแก้ไขปัญหาความยากจนและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก”

ธนาคารโลกตั้งเมื่อ ค.ศ.1944 พร้อมกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ความมุ่งหวังตั้งใจก็คือให้ความช่วยเหลือทางการเงินในการฟื้นฟูบูรณะประเทศที่ได้รับความเสียหายจากผลของสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำหน้าที่กระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศเพื่อป้องกันความขัดแย้งที่อาจจะนำไปสู่สงครามได้อีก ชื่ออย่างเป็นทางการของธนาคารโลกคือ International Bank for Reconstruction and Development (IBRD) ปัจจุบันธนาคารโลกมีสมาชิก 189 ประเทศ สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐฯ มีสถานะเป็นองค์การฯ ในเครือสหประชาชาติ

ประเทศผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของธนาคารโลกคือสหรัฐฯ ญี่ปุ่น เยอรมนี ฝรั่งเศส และอังกฤษ กรรมการบริหารของธนาคารโลกมี 24 คน (กรรมการ 5 คนมาจาก 5 ประเทศที่ถือหุ้นรายใหญ่) ใครที่อ่านข่าวที่เกี่ยวดองหนองยุ่งกับธนาคารโลก ท่านอาจจะสับสนเพราะบางครั้งจะเจอคำว่า ‘ผู้ว่าการธนาคารโลก’ บางครั้งก็เจอคำว่า ‘ประธานธนาคารโลก’ ขอเรียนนะครับ ธนาคารโลกมีคณะกรรมการผู้ว่าการ (ผู้นำคือผู้ว่าการ) นอกจากนั้น ยังมี President of the World Bank หรือประธานธนาคารโลก ประธานฯ คือตำแหน่งใหญ่สุดขององค์กร ตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2023 อาเจย์ บังกา ชาวซิกข์ ผู้มีบรรพบุรุษมาจากรัฐปัญจาบ จะเริ่มนั่งในตำแหน่งประธานธนาคารโลกคนใหม่

คนที่มีบรรพบุรุษมาจากรัฐปัญจาบของอินเดียมีตำแหน่งสำคัญในโลกปัจจุบันเยอะครับ อย่างนางอนิตา อินทิรา อนันด์ (56 ปี) เป็นรัฐมนตรีกลาโหมแคนาดา นายริชชี ซูแน็ค (43 ปี) นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ต่างมีบรรพบุรุษมาจากรัฐปัญจาบทั้งสองท่าน

เปิดฟ้าส่องโลกขอแสดงความยินดีกับชาวซิกข์และผู้ที่มีบรรพบุรุษมาจากปัญจาบที่เลือดเนื้อเชื้อไขของชาวปัญจาบได้เป็นประธานธนาคารโลก.

นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com