เสียงแซ่ซ้องสรรเสริญดังกระฮึ่มทั่วสหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 6 พ.ค. ที่ผ่านมา ขานรับอำนาจอย่างไร้ข้อกังขาของ สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แห่งราชวงศ์อังกฤษ ในโอกาสวันมหามงคลพระราชพิธีราชาภิเษก รับพรจากพระผู้เป็นเจ้าขึ้นปกครองแผ่นดินด้วยความยุติธรรมและเมตตา
โดยเป็นการสร้างประเพณีใหม่ในขั้นตอนพระราชพิธี จากเดิมที่ผู้สืบสายเลือดขุนนางจะถวายการคุกเข่าและกล่าวปฏิญาณความจงรักภักดี เปลี่ยนมาเป็นให้พสกนิกรทุกหมู่เหล่า ไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่พระราชพิธี รับชมการถ่ายทอดจากทางบ้าน ในที่สาธารณะ หรืออาศัยอยู่ในเครือจักรภพหรือต่างแดนร่วมกันเปล่งเสียงให้กึกก้อง
“ข้าพเจ้าขอสาบานว่าจะจงรักภักดีต่อพระเจ้าอยู่หัว รัชทายาทและผู้สืบทอดราชบัลลังก์ตามกฎมณเฑียรบาล ขอพระเจ้าจงประทานพร”
สร้างความมีส่วนร่วม เปิดกว้าง และลดความรู้สึก “ห่างเหิน” ที่ไพร่ฟ้ามีต่อสถาบัน เฉกเช่นพระมหากษัตริย์และสมาชิกราชวงศ์ในอดีตพระองค์ต่างๆ ทรงดำเนินการมาอย่างแข็งขันและต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า พระมหามงกุฎที่ประดับบนพระเศียรของพระองค์มีความหนักอึ้งยิ่งนัก เนื่องด้วยเป็นยุคที่ทุกสิ่งอย่างเปลี่ยนไปจากเดิม ภาพของจักรวรรดิอันเกรียงไกร มีอาณานิคมทุกแห่งหนจนถูกเรียกขานว่า “ดวงตะวันไม่เคยลับขอบฟ้า” เริ่มที่จะจางหายไป เสียงของสหราชอาณาจักรบนเวทีโลกเริ่มที่จะแผ่วเบา ไปจนถึงมุมมองของคนรุ่นใหม่ที่ดื่มด่ำเทคโนโลยีและความเสรีนิยมจนเผลอหลงลืมรากเหง้าทางวัฒนธรรม
...
สิ่งเหล่านี้สะท้อนออกมาเช่นกันในผลสำรวจความคิดเห็นของสำนักข่าวต่างประเทศ อย่างของเดลีเมลระบุว่า ผู้ตอบแบบสอบถามสามารถแบ่งออกเป็น 5 ค่าย คือ นิยมชมชอบราชวงศ์อย่างคลั่งไคล้ 7% นิยมชมชอบราชวงศ์อย่างพอดี 32% เดินทางสายกลางเน้นทางปฏิบัติ 24% สนับสนุนการเป็นสาธารณรัฐ 19% และอยากให้เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง 18%
ขณะที่ผลวิจัยของลอร์ด แอชครอฟต์ อดีตรองประธานพรรคอนุรักษนิยม ว่าด้วยมุมมองของประชาชนในเครือจักรภพที่มีต่อสถาบันยังพบด้วยว่า มีความเอนเอียงไปทางสาธารณรัฐ อย่าง “ออสเตรเลีย” อยากเป็นเอกเทศ 42% สนับสนุนให้คงอยู่ 35% หรือ “แคนาดา” ที่อยากเป็นเอกเทศ 47% สนับสนุนให้คงอยู่ 23%
กระนั้นสำหรับบางประเทศอย่าง “นิวซีแลนด์” ยังมีทิศทางในเชิงบวก สนับสนุนให้คงอยู่ 44% อยากเป็นเอกเทศ 34% ส่วนประเทศหมู่เกาะในมหาสมุทร ไม่ว่าจะเป็นตูวาลู เซนต์วินเซนต์ แอนด์เกรนาดีน เซนต์ลูเซีย เซนต์คิตต์แอนด์เนวิส ปาปัวนิวกินี คะแนนสนับสนุนยังคงอยู่ในระดับ 51-71%
แต่ทั้งหมดทั้งปวงนี้ เมื่อถูกถามในเรื่องภาพรวมของราชวงศ์อังกฤษ ประมาณ 2 ใน 3 มองว่าแม้จะเป็นระบบที่แปลกในยุคนี้ แต่ก็เป็นระบบที่รับได้ เช่นเดียวกับมุมมองในสัดส่วน 68% ที่คิดเห็นว่าเป็นระบบที่มีเสถียรภาพและถือเป็นสมบัติที่สำคัญยิ่งของสหราชอาณาจักร
เรียกได้ว่าเป็นเสียงที่มีความหักล้างกันอยู่พอสมควร ซึ่งก็สะท้อนออกมาในคะแนนนิยมของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ ซึ่งอยู่ที่ระดับ 54% ในช่วงก่อนพระราชพิธีราชาภิเษก
บทความหนึ่งของสำนักข่าวการ์เดียน (ซึ่งมีความลิเบอรัลพอตัว) บรรยายไว้อย่างน่าสนใจว่า สิ่งที่ยากลำบากที่สุดสำหรับพระองค์นั้นคือการตกอยู่ใต้เงาของพระมารดา “สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2” ที่เปี่ยมไปด้วยอำนาจและพระบารมี การได้เห็นพระพักตร์ของควีนเอลิซาเบธสามารถให้คำตอบในหัวใจได้ทันทีว่า พระองค์ทรงเป็นตัวแทนของอะไร พระองค์คือสิ่งที่ทำให้เราทุกคนรับรู้ว่า ความเป็นผู้ดีนั้นคืออะไร
ในมุมของสามัญชนแบบเรานั้น สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 เปรียบเสมือนคุณย่าผู้เป็นหัวหน้าครอบครัว คุณย่าของทุกคน คุณย่าที่เติบโตมาในอีกยุคสมัยหนึ่ง คุณย่าที่อาศัยอยู่ในต่างแดน คุณย่าที่ยิ้มอยู่ตลอดเวลาโดยที่เราไม่สามารถรู้ได้ว่าพระองค์มีความสุขหรือไม่ คุณย่าที่เดินอยู่ในป่าดงพงไพรอย่างโดดเดี่ยว คุณย่าที่รู้ดีว่าห้วงเวลาของความเป็นส่วนตัวก็สามารถคงความทรงเกียรติไว้ได้
พระองค์ทรงเป็นคุณย่าที่รู้ว่าสิ่งที่ควรทำคืออะไร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กอย่างธรรมเนียมการรับประทานอาหาร ไปจนถึงเรื่องใหญ่อย่างการเมืองระหว่างประเทศหรือสงคราม ขณะที่สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์นั้น หากมองผ่านๆ ก็ดูเหมือนคนทั่วไป โดยเป็นคนที่อาจทำให้คุณรู้สึกงงๆในงานเลี้ยงอาหารค่ำ ว่าคุณลุงที่นั่งข้างฉันนี่จะมีนิสัยแปลกๆไหม แต่พอได้รู้จักได้สนทนาไปสักพักก็พบว่า เป็นคนที่นิสัยใช้ได้เลย สามารถคุยกันเรื่องที่ชาวบ้านเขาคุยกันไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำสวน หรือสถาปัตยกรรม การออกแบบโครงสร้างอาคาร
ซึ่งสำหรับห้วงเวลาที่คนช่วงวัย 60 ปีกับคนช่วงวัย 30 ปี มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เหมือนกับอยู่กันคนละประเทศ บริโภคข่าวสารกันคนละช่องทาง ทำงานในช่วงเวลา ที่สภาพเศรษฐกิจแตกต่างกัน ความคิดอนุรักษ นิยมกับเสรีนิยมใหม่ที่สวนทางกัน การขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์อาจเป็นสิ่งที่เหมาะสมยิ่ง
...
เพราะเดิมทีพระองค์ก็อยู่กึ่งกลางระหว่าง สองขั้วอยู่แล้วคือ “มีความเป็นกษัตริย์เปี่ยมพระบารมีซึ่งขัดสายตาหัวก้าวหน้า แต่ก็มีความหัวก้าวหน้าเกินไปในสายตาอนุรักษ นิยม”.
วีรพจน์ อินทรพันธ์