ทั่วโลกยังจับตาความตึงเครียด “การสู้รบในสาธารณรัฐซูดาน” อันเป็นความขัดแย้งระหว่าง พล.อ.อับเดล ฟัตตาห์ อัล–บูร์ฮาน ผู้นำกองทัพซูดาน และ พล.อ.โมฮาเหม็ด ฮัมดัน ดากาโล (เฮเมดติ) ผู้นำกองกำลังกึ่งทหาร สนับสนุนเคลื่อนที่เร็ว (RSF) ที่เกิดการแย่งชิงอำนาจกันขึ้นมาตั้งแต่วันที่ 15 เม.ย.2566
ทำให้มีรายงานผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 500 คน และบาดเจ็บหลายพันคน ท่ามกลางความกังวลจาก “องค์การอนามัยโลก” เตือนซูดานอาจเผชิญอันตรายทางชีวภาพ เนื่องจากกองกำลังไม่ทราบฝ่ายยึดห้องปฏิบัติการรวบรวมตัวอย่างเชื้อโรค เชื้อก่อโรคโปลิโอ โรคหัด อหิวาตกโรค และวัตถุชีวภาพอื่นๆในกรุงคาร์ทูมเมืองหลวงซูดาน
เหตุการณ์นี้ทำให้ “นานาประเทศ” ต่างเร่งอพยพพลเรือน และนักการทูต ออกจากซูดานเป็นการด่วน ขณะที่ “กองทัพอากาศไทย” ส่งเครื่องบินลอตแรก 3 ลำ เดินทางไปยังสนามบินคิง อับดุลาซิซ เมืองเจดดาห์ ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย เพื่ออพยพคนไทยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ในซูดานกลับประเทศด้วยเช่นกัน
...
สำหรับสาเหตุการชิงอำนาจในซูดานนั้น ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผอ.ศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า ความขัดแย้งกองกำลังทหาร 2 ฝ่าย มีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2019 คราวนั้น “ประชาชน” ออกมาขับไล่อดีตประธานาธิบดีโอมาร์ อัล-บาชีร์ (Omar al-Bashir) ผู้ครองอำนาจในซูดานมาเกือบ 30 ปี
อันมีปัญหาเกี่ยวกับ “การผูกขาดอำนาจ คอร์รัปชัน และการบริหาร ประเทศ ล้มเหลว” ส่งผลต่อเศรษฐกิจนำมาซึ่งผลกระทบปากท้องประชาชนจนพากัน ทนไม่ไหวลุกฮือขึ้นมา “โค่นล้มระบอบโอมาร์ อัล–บาชีร์” โดยมี “กองทัพซูดาน” จับมือกับ “กองกำลังกึ่งทหาร RSF” ร่วมกันทำรัฐประหารในครั้งนั้น
ภายหลังจากนั้น “ก็มีการจัดตั้งรัฐบาลผสมทหารกึ่งพลเรือนขึ้นมาบริหารประเทศ” แต่ในระหว่างกำลังจะเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยนั้นในปี 2021 “กองทัพซูดาน และกำลังทหาร RSF” ได้ผนึกกำลังก่อการรัฐประหารรอบใหม่อีกครั้ง ทำให้ประเทศซูดานต้องตกอยู่ภายใต้การปกครองของทหารโดยสมบูรณ์อีกครั้ง
ตอกย้ำให้ “ซูดานตกอยู่ในช่วงสุญญากาศของความมั่นคงด้านการบริหาร ประเทศ” นับแต่นั้นจนส่งผลให้ “กองทัพซูดาน และกองกำลังทหาร RSF” กลายเป็นกองกำลังทหารอิสระไม่ยอมขึ้นตรงกับหน่วยงานใด สิ่งนี้นำมาซึ่งชนวน เหตุการณ์แก่งแย่งชิงอำนาจกันขึ้นของ 2 ผู้นำกองกำลังนั้นมาอย่างต่อเนื่อง
แม้ว่า “นานาชาติจะเข้ามาเป็นตัวกลางการพูดคุยเจรจากัน” เพื่อให้ เปลี่ยนผ่านจากอำนาจทหารไปสู่การปกครองของพลเรือน แต่สุดท้ายก็ล้มเหลวไม่อาจตกลงกันได้โดยเฉพาะข้อเรียกร้องให้ “กองกำลังทหาร RSF ต้องสลายตัวไปรวมกับกองทัพซูดาน” ทำให้เป็นที่ถกเถียงกันหลายเดือนก่อนจะมาถึงจุดแตกหักนี้
หากย้อนดูรากเหง้าจริงๆ “ปัญหาความแย่งชิงอำนาจในซูดานนั้น” กลับมีชนวนมาตั้งแต่ปี 2013 สมัยนั้นประชาชนเกิดความไม่พอใจ “โอมาร์ อัล–บาชีร์ ผู้นำซูดาน” ออกนโยบายลดการช่วยเหลือค่าพลังงาน หรือราคาอาหาร “พากันลุกฮือก่อการประท้วงขับไล่รัฐบาล” ทำให้ผู้นำซูดานใช้กองกำลังทหารปราบปรามอย่างจริงจัง
แล้วยังปรากฏว่า “นายทหารบางคนในกองทัพซูดาน” ก็มีความพยายามเตรียมก่อการรัฐประหารโค่นล้มฝ่ายรัฐบาลอยู่ตลอด “โอมาร์ อัล–บาชีร์” จึงจัดตั้งกองกำลังทหาร RSF เพื่อใช้สำหรับปกป้องตัวเองขึ้น
แต่อันที่จริงแล้ว “กองกำลัง RSF ถูกจัดตั้งมาตั้งแต่ก่อนปี 2013” โดยมี จุดกำเนิดมาจากกลุ่มติดอาวุธจันจาวีด (Janjaweed) ที่มีบทบาทในสงครามกลางเมืองแคว้นดาร์ฟูร์อันมีชื่อเสียงอื้อฉาวเกี่ยวกับการปราบปรามกลุ่มกบฏอย่างโหดเหี้ยม ฉะนั้นแล้ว “ผู้นำกองกำลัง RSF” จึงค่อนข้างมีความก้าวร้าวดุดัน
จนนักวิเคราะห์หลายคนระบุเลยว่า “โอมาร์ อัล–บาชีร์” กำลังสร้างปีศาจออกอาละวาดแทรกแซงความขัดแย้งในประเทศเพื่อนบ้านอย่าง “เยเมน และลิเบีย” ทั้งเข้าควบคุมเหมืองทองคำบางแห่งในซูดาน ท้ายที่สุดก็ย้อนกลับมาทำร้ายตัวเองแล้วจบลงด้วยการต่อสู้แย่งชิงอำนาจของกองทัพซูดาน และกองกำลัง RSF อยู่ทุกวันนี้
...
ประเด็นไม่ได้มีเท่านั้นยังมี “ตัวแสดงภายนอกเข้ามาแทรกแซงความขัดแย้งครั้งนี้ด้วย” อันจะเห็นได้จาก “เฮเมดติผู้นำกองกำลัง RSF” อดีตเคยเป็น พ่อค้าด้านพลังงาน และในปี 2011 เริ่มมีบทบาทด้านธุรกิจเหมืองแร่ทองคำส่งขายให้ “สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE)” ทำให้ได้รับการสนับสนุนจาก UAE อย่างเต็มที่
นอกจากนี้ยังมี “รัสเซีย” ที่เข้ามาสร้างบทบาทแสดงการสนับสนุน “กองกำลัง RSF” ด้วยความพยายามในการสร้างฐานทัพบริเวณใกล้ทะเลแดงเช่นกัน แต่ในขณะที่ “กองทัพซูดาน” ก็มีความสัมพันธ์กับ “อียิปต์” อันเป็น ตัวแทนเชื่อมโยงกับมหาอำนาจโลกอย่าง “สหรัฐอเมริกา” ก็เข้ามาให้การสนับสนุนกองทัพซูดานด้วย
ฉะนั้นความขัดแย้งนี้เสี่ยงถูกซ้ำเติมจาก “อำนาจภายนอกแทรกแซง” เป็นสงครามตัวแทนระดับภูมิภาคตะวันออกกลางหรือตัวแทนของมหาอำนาจโลก แล้วขยายเป็นสงครามกลางเมืองนำมาซึ่งความไร้เสถียรภาพในซูดาน และภูมิภาคตะวันออกกลาง เพราะโลกอาหรับนั้นเมื่อใดก็ตาม “อำนาจรัฐอ่อนแอ” ประชาชนมักวิ่งหาความเป็นชนเผ่า
...
เมื่อเป็นเช่นนั้น “แต่ละชนเผ่า” ก็จะปกป้องตัวเองด้วยการจับอาวุธเข้าร่วมต่อสู้ในครั้งนี้ “ลักษณะคล้ายสงครามกลางเมืองลิเบีย หรือสงครามกลางเมืองซีเรีย” ก่อเกิดกองกำลังติดอาวุธมากกว่า 100 กลุ่มแล้ว
“ตอนนี้การสู้รบในซูดานจำกัดเฉพาะเมืองหลวงเท่านั้น เพราะเป็นการแย่งชิงอำนาจกันภายในของหน่วยงานกองกำลัง 2 ฝ่าย ทำให้มีแนวโน้มสามารถพูดคุยเจรจาแบ่งสรรอำนาจร่วมตกลงกันได้ ด้วยประชาคมโลกเข้ามาแสดงบทบาทฐานะตัวกลางโดยไม่มาแทรกแซงสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็เชื่อว่าจะยุติลงด้วยดีได้” ดร.ศราวุฒิ ว่า
สำหรับกาวใจสำคัญมองว่า “ซาอุดีอาระเบีย” เพราะช่วงหลังมานี้มีบทบาท “ลักษณะเป็นคนกลาง” ตั้งแต่พยายามเคลียร์ใจกับประเทศเคยขัดแย้งกันมาในอดีต หรือการแก้ปัญหาความขัดแย้งของประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง อันมีจุดประสงค์ขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ชาติ 2030 (Vision 2030) เพื่อกำหนดทิศทางยุทธศาสตร์ชาติ
เพราะหากว่า “ประเทศในภูมิภาคตะวันออกมีความขัดแย้งต่อกัน” ย่อมส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพการขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ชาติ 2030 แล้วยิ่งไปกว่านั้น “ตัวแทนซาอุดีอาระเบียยังดำรงตำแหน่งเลขาธิการองค์การสันนิบาตมุสลิมโลก” อันเป็นการรวมตัวกันของชาติอาหรับ 20 ประเทศ ในจำนวนนี้มีซูดานร่วมอยู่ด้วย
นั่นหมายความว่า “ซาอุดีอาระเบีย” อาจเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมในการ เข้ามาเป็นคนกลางของความขัดแย้งครั้งนี้ นอกจากนี้ยังมี “อียิปต์” อันเป็นมหาอำนาจในภูมิภาคแห่งนี้แม้ว่าจะให้การสนับสนุน “กองทัพซูดาน” แต่ก็ต้องการ ให้ความขัดแย้งนี้ยุติลง เพราะเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่อาจจะได้รับผลกระทบโดยตรง
...
คำถามสำคัญมีว่า...“การสู้รบในซูดานกระทบต่อประชาคมโลกหรือไม่” ต้องยอมรับว่า “ซูดานเป็นประเทศเล็กๆ” แม้มีทรัพยากรสำคัญอย่าง “น้ำมันก็มี แหล่งผลิตอยู่ภาคใต้” แต่ก็มีการแยกตัวออกไปเป็นประเทศใหม่แล้ว ฉะนั้น คงเหลือเฉพาะ “ทองคำ” ที่มีการส่งขายไปตลาด UAE และตลาดโลกต่อปีมากพอสมควร
ปัญหามีอยู่ว่า “ทรัพยากรเหล่านี้” กลับมีผู้ครอบครองได้รับผลประโยชน์เพียงเฉพาะกลุ่มเผด็จการไม่กี่คนเท่านั้น “นั่นก็เป็นสาเหตุหนึ่งทำให้ซูดานกลายเป็นประเทศยากจน” ดังนั้นการสู้รบครั้งนี้เชื่อว่าไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก หรือประชาคมโลกมากนัก เว้นแต่มีตัวแสดงภายนอกเข้าไปแทรกแซงความขัดแย้งนี้
แม้แต่ “ประเทศไทย” ก็อยู่ห่างไกลจาก “ซูดาน” ทำให้มีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกันน้อย แต่มีคนไทยอาศัยอยู่ 200 กว่าคน ทำให้มีสถานกงสุลไทยประจำซูดานอันเป็นสัญลักษณ์เชิงความสัมพันธ์ทางการทูตนั้น
ฉะนั้น “ประเทศไทย” อาจต้องให้ความสำคัญต่อการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมตามความเหมาะสม “เพื่อสร้างภาพลักษณ์ต่อสายตาประชาคมโลกอาหรับ” เพราะซูดานถือเป็นหนึ่งในสมาชิกสันนิบาตโลกอาหรับ ดังนั้น การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอาจสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อประเทศในโลกอาหรับ หรือโลกมุสลิมในอนาคต
นี่คือความขัดแย้งที่เกิดขึ้น “ในซูดานกำลังซ้ำเติมความยากจน” เช่นนี้อยากเรียกร้องให้คนไทยส่งกำลังใจแก่ “คนซูดานในฐานะเพื่อนมนุษย์ ร่วมโลก” เพื่อก้าวข้ามสถานการณ์อันเลวร้ายครั้งนี้โดยเร็ว.