"อาเจย์ บังกา" ชาวอเมริกันเชื้อสายอินเดีย อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารมาสเตอร์การ์ด ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานธนาคารโลกคนใหม่ ในขณะที่ธนาคารโลกพยายามให้ความช่วยเหลือประเทศที่มีรายได้น้อยให้รอดพ้นจากปัญหาหนี้สินและต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
นายบังกาซึ่งได้รับการเสนอชื่อจากประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ ให้ดำรงตำแหน่งนี้ ถือเป็นชาวอเมริกันเชื้อสายอินเดียคนแรกที่ดำรงตำแหน่งนี้ โดยเริ่มวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปีในวันที่ 2 มิถุนายน เขาจะเข้ามารับตำแหน่งต่อจากนายเดวิด มัลพาส ซึ่งเคยจุดประกายความไม่พอใจด้วยการตั้งคำถามถึงบทบาทของมนุษย์ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
นายบังกา ซึ่งปัจจุบันเป็นพลเมืองสหรัฐฯ เริ่มต้นอาชีพในประเทศอินเดียบ้านเกิดของเขา ซึ่งบิดาของเขาเป็นนายทหารในกองทัพ เขาเคยทำงานที่บริษัทเนสท์เล่ และซิตี้กรุ๊ป ก่อนมาร่วมงานกับมาสเตอร์การ์ด ซึ่งเขาทำงานอยู่ที่นั่นมากว่า 10 ปี
นายโจ ไบเดน เรียกนายบังกาว่า เป็น "ผู้นำการเปลี่ยนแปลง" ซึ่งมีประสบการณ์ที่เหมาะสมในการบริหารธนาคารโลก ผู้นำสหรัฐฯ กล่าวว่า "เขาจะช่วยขับเคลื่อนธนาคารโลก ในขณะที่ธนาคารโลกค่อยๆ พัฒนาและขยายตัวเพื่อจัดการกับความท้าทายระดับโลกที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อภารกิจหลักในการลดปัญหาความยากจน รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ"
ในการประกาศยืนยันการรับตำแหน่งของนายบังกา กรรมการบริหารของธนาคารโลกกล่าวในแถลงการณ์ว่า พวกเขาตั้งตารอที่จะได้ร่วมงานกับนายบังกา ในขณะที่กลุ่มธนาคารโลกมีความพยายามในการมุ่งจัดการกับความท้าทายด้านการพัฒนาที่ยากที่สุดที่ประเทศกำลังพัฒนาต้องเผชิญ"
สหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของธนาคารโลก มีหน้าที่คัดเลือกบุคคลที่จะเป็นผู้นำธนาคารโลก ซึ่งมอบเงินช่วยเหลือแก่ประเทศต่างๆ จำนวนหลายพันล้านดอลลาร์ ในแต่ละปี แม้ในอดีตประเทศกำลังพัฒนา เคยแสดงความไม่พอใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่นายบังกาถือเป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อให้รับตำแหน่งดังกล่าวเพียงคนเดียว
...
การแต่งตั้งนายบังกา เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เป็นผลสืบเนื่องสำหรับองค์กรเพื่อการพัฒนา สหรัฐฯ และประเทศร่ำรวยอื่นๆ ได้ผลักดันให้ธนาคารโลกเพิ่มการปล่อยสินเชื่อเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อย่างไรก็ตาม เงินกู้กว่า 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อปีของธนาคารโลก เพื่อช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ก็ยังนับว่าต่ำเงินกู้ที่ประเทศกำลังพัฒนาชี้ว่ามีความจำเป็นในการแก้ไขปัญหานี้ ที่กว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
ประเทศกำลังพัฒนาหลายแห่งกังวลว่า การให้ความสำคัญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะทำให้ความพยายามต่อต้านความยากจนไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโรคระบาด การเพิ่มขึ้นของราคาอาหารและพลังงาน ตลอดจนระดับหนี้สินที่ไม่ยั่งยืน.