เดินทางมาถึงการครบรอบ 1 ทศวรรษของศูนย์วัฒนธรรมเกาหลีและยังเป็นปีแห่งการท่องเที่ยวเกาหลี-ไทย 2566-2567 ศูนย์ได้จัดงานอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลาย เม.ย. จนถึง พ.ค.ส่งเสริมอย่างรอบด้านทั้งเศรษฐกิจ เทคโนโลยี การศึกษา การท่องเที่ยวและวัฒนธรรม ตอนนี้ก็เชิญชวนไปชม 2 นิทรรศการพิเศษที่จัดแสดงอยู่ที่ศูนย์บนถนนสุขุมวิท ตั้งอยู่ตรงข้ามโคเรีย ทาวน์ นั่นคือ “แฮ–นยอ แห่งเกาะเชจู 2023” มีจนถึง 30 มิ.ย. และนิทรรศการการเสนอชื่อเป็นเจ้าภาพปูซานเวิลด์ เอ็กซ์โป 2030-“Busan World EXPO 2030” เปิดให้ชมกันแล้ว

เริ่มงานแรกที่นำผู้เขียนไปรู้จักกับ “แฮ–นยอ” แห่งเกาะเชจู ของเกาหลีใต้ จุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวทั่วโลก “แฮ-นยอ”  ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติจากยูเนสโกในปี 2559  ซึ่งวันเปิดนิทรรศการก็ได้พบกับ “แฮ-นยอ” ตัวจริงเสียงจริงนามว่า โก ซง–จา สตรีสูงวัยที่มีประสบการณ์เป็น “แฮ-นยอ” แห่งเกาะเชจูกว่า 40 ปี และ จอน ยู–คยอง เธอเป็นสาวกรุงโซลที่หลงใหลการเป็น “แฮ-นยอ” จนเรียนและฝึกอย่างจริงจังจนได้เป็น “แฮ-นยอ” มา 6 ปีแล้วทั้งคู่ มาในชุดทะมัดทะแมง สวมใส่หน้ากากดำน้ำ เล่าสู่กันฟังถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของความเป็น “แฮ-นยอ” อย่างออกรส แถมแขกเหรื่อยังได้ลิ้มลองอาหารและสิ่งประดิษฐ์ทำมือที่สะท้อนจิตวิญญาณของชาวเกาะเชจูด้วย

“แฮ-นยอ” คืออะไร? บอกเล่าให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือชาวประมงพื้นบ้านที่ใช้แรงกายแรงใจและอุปกรณ์แบบเฉพาะตัวดำดิ่งลงไปขุดของป่าตามธรรมชาติในทะเล ทั้งที่เป็นสัตว์และพืช แต่การเป็น “แฮ-นยอ” ไม่ใช่จะเป็นกันได้ง่ายๆต้องผ่านการฝึกฝนอบรม และที่เกาะเชจูก็มีการเปิดการเรียนการสอนเป็น “แฮ-นยอ” อย่างเป็นล่ำเป็นสัน นายมุน ซึงฮย็อน เอกอัครราชทูตเกาหลีใต้ประจำไทย เผยว่า วัฒนธรรม “แฮ-นยอ” แห่งเกาะเชจูนั้นเป็นสัญลักษณ์ของความหลากหลายทางวัฒนธรรม ซึ่งก็หวังว่านิทรรศการนี้จะเป็นโอกาสที่จะได้เรียนรู้ความเหมือนและคล้ายคลึงกันของวัฒนธรรมของทั้งเกาหลีใต้และไทยผ่านวิถีชีวิตของ “แฮ-นยอ”

...

ใครอยากรู้จัก “แฮ–นยอ” มากกว่าในนิทรรศการก็คงต้องปักหมุดไปเชจู แต่พรุ่งนี้ผู้เขียนขอนำไปที่ “ปูซาน” นครสำคัญของเกาหลีใต้ที่กำลังกรุยทางไปสู่การเป็นเจ้าภาพเวิลด์ เอ็กซ์โป 2030!

ภัค เศารยะ