มีข้อเท็จจริงที่ว่าความหลากหลายทางชีวภาพบนโลกใบนี้ จะทำให้เราเข้าใจตัวเราเอง ค้นพบสิ่งใหม่ๆที่เกี่ยวกับการรักษาโรคในมนุษย์ แต่สิ่งที่นักวิจัยยังสงสัยและหาคำตอบอย่างต่อเนื่อง คือความหลากหลายในจีโนม (genome) หรือข้อมูลทางพันธุกรรมทั้งหมดของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม มีการทำงานเป็นเช่นไร

เพื่อไขคำตอบว่าสิ่งเหล่านี้จะส่งผลต่อสุขภาพและโรคภัยไข้เจ็บในร่างกายคนเรา หรือแม้แต่สิ่งมีชีวิตอื่นๆอย่างไร นักวิทยาศาสตร์ในโครงการซูโนเมีย (Zoonomia) ได้จัดทำรายการความหลากหลายในจีโนมของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมโดยเปรียบเทียบลำดับดีเอ็นเอจาก 240 สายพันธุ์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ตั้งแต่ ตัวอาร์ดวาร์กหรือตัวกินมด ช้างแอฟริกันสะวันน่า ไปจนถึงตัวไฮแรกซ์หินจุดเหลือง วัวซีบยูที่เป็นวัวเอเชียชนิดหนึ่งมีโหนกหลังสูงและเหนียงคอยาว ม้าลาย และมนุษย์ เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงทางวิวัฒนาการในช่วง 100 ล้านปี นักวิจัยเผยว่า จีโนมมีความสำคัญต่อการทำงานในมนุษย์และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ ซึ่งโครงการนี้เปิดเผยพันธุกรรมของลักษณะสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่หายาก เช่น การจำศีล การมีประสาทสัมผัสด้านกลิ่นที่แตกต่างกันอย่างไร

...

การวิจัยแสดงถึงภูมิภาคที่เกี่ยวข้องกับยีนพัฒนาการและระบบประสาท และชี้ให้เห็นว่าวิวัฒนาการของลักษณะเฉพาะของมนุษย์ คือโฮโมเซเปียนส์ แยกจากบรรพบุรุษร่วมกับลิงชิมแปนซีเมื่อ 6-7 ล้านปีก่อนโดยเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงในการควบคุมยีนของระบบประสาท อีกทั้ง การวิจัยยังชี้ว่ารกหรือบริเวณที่ระบบไหลเวียนโลหิตที่มารดาและทารกมาพบกัน ย้อนไปเมื่อ 100 ล้านปีก่อน เริ่มมีความหลากหลายก่อนที่ดาวเคราะห์น้อยจะพุ่งชนโลกเมื่อ 66 ล้านปีที่แล้วจนทำไดโนเสาร์สูญพันธุ์ และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขึ้นมามีอิทธิพลแทนที่.