จากกรณีรัฐบาลออสเตรเลียเปิดเผยแผนการยกเครื่องกองทัพขนานใหญ่ มุ่งเน้นการจัดหาจรวดพิสัยไกล และการเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตกระสุนชนิดต่างๆ เพื่อรับมือกับสถานการณ์ความมั่นคงนยุคปัจจุบัน ซึ่งรวมถึงกรณีที่ระบุไว้ในเอกสารคำแนะนำของทางการออสเตรเลียว่ากองทัพจีนสั่งสมกำลังทางทหาร อย่างที่ไม่เคยมีก่อนนับตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น เมื่อวันที่ 25 เม.ย. สำนักข่าวต่างประเทศได้รายงานอ้างนักวิชาการมหาวิทยาลัยซิดนีย์ และมหาวิทยาลัยออสเตรเลียแนชนัล ที่ต่างสนับสนุนแผนการปฏิรูป และมองว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อรับมือกับความท้าทายในภูมิภาค

ทั้งนี้ นายเบลค เฮอร์ซิงเกอร์ นักวิชาการของมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ออสเตรเลียให้มุมมองว่า สิ่งที่บ่งชี้ถึงความตั้งใจของออสเตรเลียที่ต้องการจะมีบทบาทในภูมิภาคมากขึ้น ซึ่งย่อมหมายถึงการขยายความร่วมมือแก่ภูมิภาค มากขึ้นกว่าที่เคยทำมา หลังจากนี้เราจะได้เห็นรัฐบาลออสเตรเลียที่มีความสนใจในสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในพื้นที่มหาสมุทรอินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือแปซิฟิก ออสเตรเลียจะใช้ความโปรแอ็กทีฟ ทำงานเชิงรุกมากกว่าทำงานเชิงรับ รอให้ปัญหามาถึงออสเตรเลีย

ขณะที่นายพอล ดิบบ์ จากศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์และความมั่นคง มหาวิทยาลัยออสเตรเลีย แนชนัล มองว่าในการรับมือความเคลื่อนไหวทางการทหารครั้งใหญ่ที่ไม่เคยมีมาก่อนในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ทำให้ออสเตรเลียมีความจำเป็นที่ต้องแสดงให้ทุกคนเห็นว่า เรามีขีดความสามารถในการโจมตีระยะไกล แต่นี่ไม่ได้หมายความว่า เราจะมุ่งเป้าการโจมตีจีน นั่นเป็นความคิดที่ปัญญาอ่อนอย่างมากสำหรับออสเตรเลียที่มีขนาดเพียงเท่านี้ สิ่งที่เราต้องการคือการโชว์ให้เห็นว่า หากจีนเกิดแสดงท่าทีคุกคาม จีนก็จะอยู่ในเป้าสายตาของเราตั้งแต่เนิ่นๆ

...

วันเดียวกัน กระทรวงกลาโหมสิงคโปร์เปิดเผยว่า กองทัพเรือสิงคโปร์จะจัดการซ้อมรบร่วมกับกองทัพเรือจีน ระหว่างวันที่ 28 เม.ย. ถึง 1 พ.ค. ซึ่งจะเป็นการแสดงให้เห็นถึงความอบอุ่นและความเป็นมิตร ในด้านความสัมพันธ์ทางความมั่นคงระหว่างสิงคโปร์และจีน พร้อมแสดงให้เห็นว่าสิงคโปร์ต้องการที่จะขยายความร่วมมือและความไว้เนื้อเชื่อใจกับประเทศอื่นๆ เรือที่เข้าร่วมการฝึกซ้อมจะประกอบด้วยเรือฟริเกต เรือฟริเกตมิสไซล์ และเรือกวาดทุ่นระเบิดของทั้งสองฝ่าย ถือเป็นการฝึกซ้อมร่วมกับจีนครั้งแรกในรอบ 2 ปี.