องค์การบริหารอวกาศจีน เผยชุดภาพสี ดาวอังคาร ทั้งดวงครั้งแรก อ้างอิงข้อมูลภาพกว่า 1.4 หมื่นภาพ จากภารกิจ ‘เทียนเวิ่น1’ ส่งยานสำรวจดาวอังคาร

เมื่อ 25 เม.ย. 2566 สำนักข่าวซินหัวรายงาน องค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน และสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน ร่วมกันเผยแพร่ชุดภาพดาวอังคารทั้งดวงที่ได้จากภารกิจสำรวจดาวอังคารครั้งแรกของจีน เมื่อวันจันทร์ (24 เม.ย.) ที่ผ่านมา 

ชุดภาพสีของดาวอังคารข้างต้นถูกเผยแพร่ในพิธีเปิดวันอวกาศจีน (Space Day of China) ที่นครเหอเฝย เมืองเอกของมณฑลอันฮุยทางตะวันออกของจีน

ภาพเหล่านี้ประกอบด้วยการฉายภาพซีกตะวันออกและตะวันตกของดาวอังคาร เส้นโครงแผนที่แบบโรบินสันของดาวอังคาร รวมถึงเส้นโครงแผนที่แบบเมอร์เคเตอร์และเส้นโครงแผนที่คงทิศทางของดาวอังคาร ซึ่งถูกประมวลผลตามมาตรฐานการจัดทำแผนที่ความละเอียดเชิงพื้นที่ 76 เมตร

องค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีนฯ เผยชุดภาพสี ของดาวอังคาร ทั้งดวงเป็นครั้งแรก
องค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีนฯ เผยชุดภาพสี ของดาวอังคาร ทั้งดวงเป็นครั้งแรก

...

องค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน ระบุว่าภาพเหล่านี้อ้างอิงจากข้อมูลภาพ 14,757 ภาพ ซึ่งได้มาจากกล้องบันทึกภาพการสำรวจระยะไกลบนยานโคจรเทียนเวิ่น-1 ในช่วงระยะเวลา 8 เดือน นับจากเดือนพฤศจิกายน 2564 จนถึงกรกฎาคม 2565

ทั้งนี้ ภารกิจเทียนเวิ่น-1 ประกอบด้วยยานโคจร ยานลงจอด และยานสำรวจพื้นผิว ถูกส่งขึ้นสู่ห้วงอวกาศวันที่ 23 ก.ค. 2563 และเข้าสู่วงโคจรของดาวอังคารหลังจากเดินทางนาน 202 วัน

ยานลงจอดที่บรรทุกยานสำรวจพื้นผิว ‘จู้หรง’ ได้ลงจอดบนดาวอังคาร วันที่ 15 พ.ค. 2564 ณ ตอนใต้ของยูโทเปีย พานิเทีย ที่ราบขนาดมหึมาทางซีกเหนือของดาวอังคาร โดยยานจู้หรงวิ่งลงจากแพลตฟอร์มลงจอดแตะพื้นผิวดาวอังคาร วันที่ 22 พ.ค. 2564 เพื่อเริ่มต้นสำรวจดาวเคราะห์แดงดวงนี้

จาง หรงเฉียว หัวหน้านักออกแบบประจำภารกิจสำรวจดาวอังคารครั้งแรกของจีน กล่าวว่าชุดภาพดาวอังคารทั้งดวงนี้จะเป็นแผนที่ฐานที่มีคุณภาพดียิ่งขึ้นสำหรับการสำรวจดาวอังคารและการวิจัยทางวิทยาศาสตร์

“เทียนเวิ่น-1 ได้สร้างคุณประโยชน์สำคัญต่อการสำรวจอวกาศห้วงลึกของมนุษย์” จางกล่าว พร้อมเสริมว่าจะมีการเผยแพร่ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ของเทียนเวิ่น-1 สู่ทั่วโลกตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. นี้

ทีมนักวิจัยยังระบุสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์จำนวนมากของบริเวณใกล้พื้นที่ลงจอดจากภาพดาวอังคารความละเอียดสูง โดยสหพันธ์ดาราศาสตร์สากล (IAU) ได้ตั้งชื่อสิ่งบ่งชี้ฯ จำนวน 22 รายการ ตามหมู่บ้านและตำบลทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่มีประชากรน้อยกว่าหนึ่งแสนคนในจีน

“ข้อมูลการสำรวจทางวิทยาศาสตร์ที่ได้จากภารกิจเทียนเวิ่น-1 จะมีส่วนส่งเสริมความรู้เชิงลึกเกี่ยวกับดาวอังคารของมนุษย์” องค์การฯ ระบุ

องค์การฯ ระบุว่ายานโคจรเทียนเวิ่น-1 ได้ทำการตรวจสอบดาวอังคารจากระยะไกล เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2565 โดยปัจจุบันยานโคจรเทียนเวิ่น-1 ปฏิบัติงานในสภาพดีมานานกว่า 1,000 วัน และยังคงสะสมข้อมูลดิบจากการสำรวจระยะไกล ส่วนยานสำรวจพื้นผิวจู้หรงได้เดินทางบนดาวอังคารเป็นระยะทาง 1,921 เมตรแล้ว

ขอบคุณข้อมูล-ภาพ : Xinhua