ในอดีตพวกตะวันตกลงหลักปักฐานอาณาจักรของพวกตนอยู่ในซีกโลกทางเหนือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทวีปยุโรป ส่วนพวกเอเชียก็ลงหลักปักฐานแถวเส้นศูนย์สูตรซึ่งเป็นตอนกลางของโลก เมื่อไม่กี่ร้อยปีก่อน พวกตะวันตกเดินทางมาลงหลักปักฐานในดินแดนใหม่ทางตอนใต้หลายแห่ง เพื่อให้เผ่าพันธุ์ของพวกตนสามารถคุมได้ทั้งซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้ของโลก

ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 สงบจบลง หลายประเทศมียุทธศาสตร์ยอมรับอิทธิพลเดียวของอภิมหาอำนาจสหรัฐฯ โดยเฉพาะเครือรัฐออสเตรเลียที่ยอมรับว่าสหรัฐฯเป็น ‘มหาอำนาจขั้วเดียวในอินโด-แปซิฟิก’ การเป็นพันธมิตรแน่นแฟ้นกับสหรัฐฯทำให้ออสเตรเลียปลอดโปร่งโล่งใจว่าในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกนั้น ตนเองมีแบ็กดี มีเพื่อนคอยช่วยเหลือ

ออสเตรเลียมองข้ามความสำคัญของจีนอยู่นาน เวลาหมุนเวียนเปลี่ยนไป 78 ปี จน 24 เมษายน 2023 รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีแอนโธนี อัลบาเนซี ออกมาเปิดเผยเอกสารวิพากษ์ยุทธศาสตร์กลาโหมประจำ ค.ศ.2023 ที่ทำโดยพลเอกแองกัส ฮิวสตัน อดีตประธานคณะเสนาธิการทหารร่วมออสเตรเลีย และนายสตีเฟน สมิธ อดีตรัฐมนตรีกลาโหม โดยในเอกสารระบุข้อความว่า “สหรัฐฯไม่ใช่มหาอำนาจขั้วเดียวในอินโด-แปซิฟิกอีกต่อไป การต่อสู้กันอย่างเข้มข้นและอย่างสูสีระหว่างสหรัฐฯกับจีนจะเป็นการกำหนดทิศทางของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก การแข่งขันระหว่าง 2 มหาอำนาจสหรัฐฯและจีนมีแนวโน้มที่จะพัฒนากลายเป็นความขัดแย้ง ออสเตรเลียจำเป็นต้องดำเนินยุทธศาสตร์อย่างรอบคอบในระดับสูงสุดเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยง”

ปัจจุบันออสเตรเลียยกระดับการทำงานร่วมกับสหรัฐฯในทุกมิติ แถมยังส่งเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคงกับญี่ปุ่น อินเดีย ประเทศในเอเชียตะวันออก และประเทศในภูมิภาคแปซิฟิก เพื่อรักษาสมดุลของอำนาจในภูมิภาค นายริชาร์ด มาร์เลส รัฐมนตรีกลาโหมออสเตรเลียยอมรับว่าเอกสารวิพากษ์ยุทธศาสตร์กลาโหม ค.ศ.2023 เป็นการปรับเปลี่ยนแนวนโยบายกลาโหมครั้งสำคัญที่สุดของประเทศ นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2

...

การปรับเปลี่ยนนโยบายกลาโหมครั้งใหญ่ที่สุดของออสเตรเลียกระทบกับการใช้จ่ายด้านความมั่นคงและการป้องกันประเทศ แต่ก่อนง่อนชะไร ออสเตรเลียใช้จ่ายเรื่องการป้องกันตนเอง นับแต่นี้เป็นต้นไป ก็จะหันมาใช้จ่ายงบประมาณกับการคุ้มครองภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก

เพื่อยับยั้งอิทธิพลจีนในอินโด-แปซิฟิก สหรัฐฯ อังกฤษ และออสเตรเลียตั้งกลุ่มขึ้นมาที่เรียกว่า AUKUS (Australia United Kingdom และ United States) เป็นกลุ่มที่ตั้งเพื่อช่วยออสเตรเลียพัฒนาแสนยานุภาพทางทะเลด้วยเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์เพื่อต่อต้านจีน อันที่จริงไม่ได้มีแค่เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์เท่านั้น ยังมีอาวุธยุทโธปกรณ์อื่นอีกเยอะ เรือดำน้ำเป็นแค่จุดเริ่มต้น

เป็นเวลาหลายร้อยปีที่ฝรั่งตะวันตกมั่นใจในแสนยานุภาพของพวกตน ที่สามารถมาบังคับเอาทรัพยากรธรรมชาติและแรงงานจากภูมิภาคอื่นของโลกไปใช้ในประเทศตัวเองได้ ท่านที่ชอบอ่านประวัติศาสตร์จะพบว่า ถ้าตะวันตกรบเพียงประเทศเดียวไม่ไหว พวกนี้ก็จะรวมหัวกันรบ และรบอย่างไม่ค่อยเคยแพ้ มีเอเชียเพียงประเทศเดียวเท่านั้นที่เคยรบชนะ 2 มหาอำนาจตะวันตก ทั้งฝรั่งเศสและสหรัฐฯ นั่นคือเวียดนาม

จีนเคยทุกข์กับการเข้ามาของฝรั่งตะวันตก ต่อมาจีนจึงพัฒนาศักยภาพของตนเองอย่างเงียบเชียบ กระทั่งในปัจจุบัน ศักยภาพของจีนทางด้านการทหารไม่ห่างจากประเทศตะวันตก เรียกว่าหายใจรดต้นคอ และถ้าไปร่วมมือกับรัสเซียซึ่งเป็นพันธมิตรสำคัญของจีน สองประเทศพันธมิตรมีศักยภาพในการต่อสู้กับสหรัฐฯและพวก

อังกฤษส่งคนของตนไปลงหลักปักฐานในแผ่นดินสหรัฐฯและออสเตรเลีย ทำให้ทั้งสามประเทศมีประชากรส่วนใหญ่มาจากแหล่งเดียวกัน จากการติดตามการกระดิกพลิกตัวของทั้งจีนและกลุ่ม AUKUS รวมทั้งตามเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ก็ทำให้เราพอทำนายทายได้ว่า ต่อไปในอนาคต ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกจะเผชิญความขัดแย้งยุ่งยากที่สามารถพัฒนาไปสู่สงครามใหญ่ได้

ผู้อ่านท่านที่สนใจความเป็นไปของโลก โปรดอย่าละเลยการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ด้านกลาโหมของออสเตรเลียในครั้งนี้ เพราะนี่หมายถึงความวุ่นวายขายปลาช่อนที่ประเทศอย่างพวกเราอาจจะต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้.

นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com