ในระบบนิเวศยุคปัจจุบันจะเห็นว่าแมลงดูดกินเลือดเป็นอาหารมักเข้ามารบกวนสัตว์ตลอดเวลา ซึ่งจริงๆแล้วสัตว์มีกระดูกสันหลังและสัตว์ขาปล้องมีความสัมพันธ์ทางนิเวศวิทยาที่หลากหลายและซับซ้อน พวกมันอยู่ร่วมกันมากว่า 500 ล้านปี เช่น กบใช้ลิ้นจับแมลง หรือเพรียงบางชนิดเติบโตบนผิวหนังของวาฬ ทว่าหลักฐานความสัมพันธ์ระหว่างสัตว์ขาปล้องและสัตว์มีกระดูกสันหลังนั้นก็หายากมาก

เมื่อเร็วๆนี้ทีมวิจัยจากสถาบันธรณีวิทยาและเหมืองแร่สเปน แห่งสภาวิจัยแห่งชาติสเปน เผยการวิเคราะห์ฟอสซิลในอำพัน ซึ่งมีซากตัวอ่อนแมลงปีกแข็งขนาดเล็กถูกห่อหุ้มด้วยขนอ่อนบางส่วน ขนเหล่านี้ระบุว่าเป็นของไดโนเสาร์เทอโรพอดที่ไม่รู้จัก ซึ่งเทอโรพอดบางกลุ่มก็มีปีกที่มีลักษณะก้ำกึ่งระหว่างนกกับไดโนเสาร์ นั่นคือมีปีกและมีขน อาศัยอยู่ในช่วงต้นยุคครีเตเชียส นักวิจัยเผยว่าขนของเทอโรพอดที่ศึกษานี้ไม่ได้เป็นของนกยุคใหม่ เพราะกลุ่มขนที่ปรากฏในซากฟอสซิลมีอายุราว 30 ล้านปี อยู่ในช่วงปลายยุคครีเตเชียส

การวิจัยเผยว่า แมลงปีกแข็งมีพฤติกรรมกินอาหารบนขนของไดโนเสาร์เมื่อประมาณ 105 ล้านปีก่อน ชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ทางชีวภาพแบบฝ่ายเดียวหรือผลประโยชน์ร่วมกัน ลักษณะการลอกคราบตัวอ่อนที่อยู่ในอำพัน ถูกเชื่อมโยงกับด้วงขนสัตว์ที่เป็นศัตรูพืช แม้ยังไม่แน่ชัดว่าไดโนเสาร์ที่มีขนเหมือนนกได้รับประโยชน์จากตัวอ่อนของแมลงปีกแข็งพวกนี้อย่างไร แต่ไดโนเสาร์อาจไม่ได้รับอันตรายจากกิจกรรม เช่น การกินอาหาร ถ่ายอุจจาระ ลอกคราบ ของตัวอ่อนแมลงปีกแข็งที่อาศัยอยู่ตามขนของไดโนเสาร์.

Credit : Geological and Mining Institute of Spain of the Spanish National Research Council (CN IGME-CSIC)