อิรักเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เมื่อปีที่แล้วก็ต้องเผชิญกับพายุทรายหลายสิบลูก ท้องฟ้ากลายเป็นสีส้ม ชีวิตประจำวันของผู้คนหยุดชะงัก เพราะหายใจกันไม่ออก แต่เมื่อพายุสงบลง ชั้นของทรายละเอียดก็ปกคลุมทุกสิ่ง รวมไปถึงซากปรักหักพังของชาวสุเมเรียนในแหล่งโบราณคดี Umm al–Aqarib หรือที่เรียกว่า “The Mother of Scorpions” ในจังหวัดดิการ์ ทางตอนใต้ของอิรัก

สิ่งมหัศจรรย์ทางโบราณคดีของอิรัก อุตส่าห์รอดพ้นจากการล่มสลายอันเนื่องจากสงครามนับพันปี ทว่าตอนนี้กลับเผชิญกับภัยคุกคามสมัยใหม่ กำลังจะถูกฝังกลบอย่างช้าๆ โดยพายุทรายที่เชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เกิดความร้อนเพิ่มสูงขึ้นและความแห้งแล้งที่ยาวนาน นักโบราณคดีในอิรักต้องขยันตักทรายออกอยู่เสมอ เพราะปริมาณเพิ่มพูนขึ้น ที่ Umm al-Aqarib โดนเม็ดทรายปกคลุมส่วนที่ดีของพื้นที่กว่า 5 ตารางกิโลเมตร ซึ่งมีอายุย้อนไปถึงประมาณ 2,350 ปีก่อนคริสตกาล

...

นักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยอัลกาดิซียาห์ ในอิรัก ระบุว่า อีก 10 ปีข้างหน้าคาดว่าทรายจะปกคลุม 80-90% ของแหล่งโบราณคดี เพราะพายุทรายจะเกิดบ่อยขึ้น ลมแรงขึ้น อุณหภูมิก็สูงขึ้น ดินมีความเปราะบางและแตกระแหงมากขึ้น เนื่องจากขาดพืชและรากยึดเกาะ เมื่อชาวนาหนีละทิ้งชนบทมากขึ้นที่ดินของพวกเขาก็ถูกทิ้งร้าง ดินสัมผัสกับลมมากขึ้น ทางการอิรักยืนยันว่ารัฐบาลเล็งจัดการกับปัญหาที่ซับซ้อนและมีหลายชั้น เช่น ทุ่มงบกับแผนการปลูกต้นไม้ แต่ก็มีเสียงกังขาว่าการจะรักษาพืชให้คงอยู่ได้นั้นจำเป็นต้องใช้น้ำมากเช่นกัน.