สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศ ซึ่งอยู่ระหว่างการเยือนสหรัฐฯ ตามคำเชิญของฮิลลารี คลินตัน ได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับเจ้าหน้าที่ด้านเอเชียตะวันออก ขอให้สนับสนุนเรื่องการจัดลดลำดับไทย ในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ซึ่งจัดทำโดยกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ...
นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมหารือข้อราชการกับนางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ สมาชิกวุฒิสภาสหรัฐฯ และนักธุรกิจจากบริษัทชั้นนำที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทย รวมทั้งพบปะกับทีมประเทศไทย
ในการหารือกับนางคลินตัน ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการกระชับความสัมพันธ์ ระหว่างกันทั้งทางด้านความมั่นคง การค้า การลงทุน ความสัมพันธ์ในระดับประชาชน รวมทั้งแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในภูมิภาค อาทิ การก่อการร้าย อาชญกรรมข้ามชาติ สถานการณ์ในเมียนมาร์ และสถานการณ์ในทะเลจีนใต้ เป็นต้น โดยนายสุรพงษ์ ได้ย้ำถึงคำเชิญของนายกรัฐมนตรีที่เชิญประธานาธิบดีสหรัฐฯ เยือนไทยในช่วงก่อนหรือหลังการประชุม East Asia Summit (EAS) ที่กรุงพนมเปญในเดือนพ.ย.นี้ และความเป็นไปได้ที่นายกรัฐมตรีจะเดินทางเยือนสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการในเดือนก.ค. หรือส.ค.นี้
ในเรื่องเมียนมาร์ นายสุรพงษ์ ได้อธิบายถึงบทบาทของไทยในการสนับสนุนพัฒนาการต่าง ๆ ใน เมียนมาร์ และขอให้สหรัฐฯ พิจารณายกเลิกมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ต่อเมียนมาร์ นอกจากนี้ ยังได้มีการหารือถึงความเป็นไปได้ที่จะส่งเสริมความร่วมมือ 3 ฝ่าย (ไทย สหรัฐฯ เมียนมาร์) ในการดำเนินโครงการความช่วยเหลือด้านการพัฒนาต่อเมียนมาร์อีกด้วย
สำหรับการหารือกับนายจิม เว็บบ์ วุฒิสมาชิกพรรคเดโมแครต มลรัฐเวอร์จิเนีย และนายเจมส์ อินฮอฟ วุฒิสมาชิก พรรครีพับลิกัน มลรัฐโอกลาโฮมา ประธานและรองประธานคณะอนุกรรมาธิการการต่างประเทศด้านเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ตามลำดับนั้น นายสุรพงษ์ แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในภูมิภาค และขอให้วุฒิสมาชิกสนับสนุนเรื่องการจัดลดลำดับไทยในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ในประเทศต่างๆ ซึ่งจัดทำโดยกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯด้วย
ส่วนการหารือกับสมาชิกสภาธุรกิจอาเซียน-สหรัฐฯ (U.S. – ASEAN Business Council - USABC) และสภาหอการค้าของสหรัฐฯ (U.S. Chamber of Commerce - USCC) มีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในภูมิภาค การเพิ่มการลงทุนของบริษัทสหรัฐฯ ในไทย และความเป็นไปได้ที่ไทยจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจข้ามแปซิฟิก (Trans-Pacific Strategic Economic Partnership)
ต่อด้วยการพบปะกับข้าราชการทีมประเทศไทย ที่ประจำการในสหรัฐฯ (กระทรวงการต่างประเทศ กองทัพ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานข้าราชการพลเรือน และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย) นายสุรพงษ์ รับฟังข้อมูลเกี่ยวกับโครงการสำคัญและแนวทางการดำเนินงานของทีมประเทศ ตลอดจนได้มอบนโยบายเกี่ยวกับการทำงานอย่างบูรณาการ เพื่อส่งเสริมและปกป้องผลประโยชน์ของไทยในต่างประเทศ โดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน.
...