ในกลุ่มสัตว์มีกระดูกสันหลังหลายกลุ่ม เช่น ปลา และสัตว์เลื้อยคลานนั้น กะโหลกและกรามล่างของสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังจะประกอบด้วยกระดูกจำนวนมาก เช่น บรรพบุรุษยุคแรกสุดของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมยุคปัจจุบัน เมื่อ 300 ล้านปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม ในช่วงวิวัฒนาการของสัตว์มีกระดูกสันหลัง กระดูกกะโหลกศีรษะมีการลดขนาดอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมยุคแรกเมื่อราว 150–100 ล้านปีก่อน

ทีมนักบรรพชีวินวิทยานานาชาตินำโดยนักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม ในอังกฤษ เผยว่า จากการจำลองด้วยคอมพิวเตอร์และการวิเคราะห์แรงเค้นเพื่อตรวจสอบว่าทำไมจึงมีการปรับขนาดกะโหลกศีรษะ ก็พบว่าการลดจำนวนกระดูกกะโหลกศีรษะไม่ได้นำไปสู่แรงกัดที่สูงขึ้น หรือความแข็งแรงของกะโหลกศีรษะที่เพิ่มขึ้น ตามที่ตั้งสมมติฐานมานานหลายทศวรรษ ทีมงานพบว่ารูปทรงกะโหลกของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในยุคแรกๆพวกนี้เปลี่ยนทิศทางของแรงเค้นในระหว่างการกินอาหารด้วยวิธีที่มีประสิทธิภาพมากกว่า

นักบรรพชีวินวิทยาระบุว่า การลดจำนวนของกระดูกทำให้เกิดการกระจายความเค้นในกะโหลกศีรษะของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในยุคแรกเริ่ม ความเค้นถูกเปลี่ยนทิศทางจากส่วนของกะโหลกศีรษะซึ่งเป็นที่อยู่ของสมองไปที่ขอบของกะโหลกศีรษะระหว่างการกินอาหาร ซึ่งอาจทำให้ขนาดของสมองเพิ่มขึ้นได้ นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างกะโหลกศีรษะอย่างสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีขนาดเล็กกว่า มีความเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนอาหารเป็นกินแมลง ทำให้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมีความหลากหลายตามมา และนำไปสู่การพัฒนาของสิ่งมีชีวิตหลากหลายชนิดที่เราเห็นรอบตัวเราในปัจจุบัน.

(Credit : Dr Stephan Lautenschlager,University of Birmingham)