• กรณีข้อมูลข่าวกรองลับของสหรัฐฯ รั่วไหลครั้งล่าสุด ทำให้ผู้เชี่ยวชาญหลายคนออกมาเตือนว่า มันจะส่งผลกระทบต่อสหรัฐฯ อย่างมากมายมหาศาล

  • การจับกุมตัวนาย แจ็ก เตเซรา ทหารหนุ่มวัย 21 ปี ที่ถูกระบุว่าเป็นผู้โพสต์ข้อมูลลงบนโซเชียลมีเดีย ยิ่งตอกย้ำถึงความสะเพร่าและไร้ความสามารถของรัฐบาลสหรัฐฯ ในการจัดการข้อมูลลับ

  • ในขณะที่ความสามารถในการควบคุมข้อมูลลับของสหรัฐฯ กำลังถูกตั้งคำถาม การรั่วไหลครั้งนี้ก็สร้างความเสียหายต่อความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ ในสายตาชาติพันธมิตรไปแล้ว

อดีตเจ้าหน้าที่กลาโหมและผู้เชี่ยวชาญด้านการข่าวกรองของสหรัฐฯ ระบุว่า กรณีเอกสารลับของสหรัฐฯ รั่วไหลสู่โลกอินเทอร์เน็ตในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา สร้างความอับอายแก่รัฐบาลของชาติมหาอำนาจทางทหารอันดับ 1 ของโลกแห่งนี้ ทำให้วิธีการรวบรวมข้อมูลข่าวกรองของเพนตากอนตกอยู่ในอันตราย เปิดโปงยุทธศาสตร์ต่างๆ บ่อนทำลายความเชื่อใจของชาติพันธมิตร

ซ้ำร้ายเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ตำรวจสหรัฐฯ จับกุมตัวผู้ต้องสงสัยเป็นผู้นำข้อมูลลับเหล่านี้เข้าสู่อินเทอร์เน็ต ปรากฏว่าคือนาย แจ็ก เตเซรา นายทหารระดับล่างวัย 21 ปี สังกัดกำลังพิทักษ์มาตุภูมิทางอากาศ (ANG) ในรัฐแมสซาชูเซตส์

การที่ผู้เกี่ยวข้องกับการรั่วไหลของข้อมูล ทำเกิดการตั้งคำถามเรื่องการควบคุมข้อมูลความลับที่สำคัญที่สุด หลังจากเคยเกิดกรณีของนาย เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน ที่เผยแพร่ข้อมูลลับจำนวนมหาศาลเมื่อทศวรรษก่อน

นายบิล ลีนน์ อดีตรัฐมนตรีช่วยกระทรวงกลาโหมในยุครัฐบาลประธานาธิบดี บารัค โอบามา ที่ตอนนี้เป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท Leonardo DRS ผู้ผลิตและพัฒนายุทโธปกรณ์ขึ้นสูงให้กองทัพสหรัฐฯ กล่าวว่า “เป็นเรื่องยากที่จะเชื่อใจฝากความลับของคุณไว้กับเรา หากเราไม่สามารถปกป้องมันได้”

...

ตึกเพนตากอน อาคารกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ
ตึกเพนตากอน อาคารกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ

กระทบพันธมิตรอเมริกันอย่างหนัก

เอกสารลับที่รั่วไหลออกมา ซึ่งเริ่มปรากฏบนแพลตฟอร์ม ดิสคอร์ด เป็นครั้งแรกเมื่อเดือนก่อน เปิดเผยข้อมูลอันน่าตกใจเกี่ยวกับการสอดแนมรัสเซียของสหรัฐฯ ในการทำสงครามยูเครน และเผยข้อมูลลับเกี่ยวอำนาจการรบของยูเครน “มันทำให้รัสเซียดูออกว่า เรารวบรวมข้อมูลเหล่านั้นอย่างไร ซึ่งทำให้แหล่งของข้อมูลพวกนี้ตกอยู่ในความเสี่ยง” นายลีนน์กล่าว

เอกสารยังรวมถึงข่าวกรองที่เก็บรวบรวมมาจากชาติพันธมิตรของสหรัฐฯ เช่น เกาหลีใต้ ซึ่งเปิดเผยเรื่องที่ที่ปรึกษาประธานาธิบดีถกเถียงกันเรื่องการส่งเครื่องกระสุนให้ยูเครน และเอกสารเกี่ยวกับอิสราเอลซึ่งระบุว่า หน่วยข่าวกรองมอสซาด กระตุ้นให้เจ้าหน้าที่ของตัวเองประท้วงแผนลดอำนาจศาลของประธานาธิบดีเบนจามิน เนทันยาฮู

“เป็นเรื่องเสียหายมากสำหรับพันธมิตรของเราที่ต้องมาเห็นข้อมูลแบบนั้นถูกนำมาเผยแพร่” นายลินน์ระบุ “มันถูกเผยแพร่อย่างกว้างขวางเกินไป มันเป็นเรื่องที่ควรจะสังเกตได้และรู้เรื่องมานานแต่ไม่สนใจจนปล่อยให้มันเกิดขึ้น และตอนนี้ก็พูดถึงมันได้ง่ายขึ้นแล้ว”

“ทุกการข่าวกรองมีความตั้งใจอยู่เสมอที่จะ มอบข้อมูลให้แก่คนที่จำเป็นต้องรู้ เพื่อที่มันจะได้ถูกนำไปใช้ แล้วจากนั้นก็ปกป้องมันไม่ให้ถูกเปิดเผย แน่นอน ในกรณีนี้เราทำไม่เพียงพอที่จะปกป้องมัน”

การจัดการข้อมูลลับน่าผิดหวัง

นายมาร์ตี มาร์ติน อดีตเจ้าหน้าที่ของสำนักงานข่าวกรองกลาง (CIA), สำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ (NSA) และกองทัพสหรัฐฯ บอกกับสำนักข่าว CNBC ว่า ลักษณะการรั่วไหลของข้อมูลครั้งนี้ รวมกับการเปิดเผยว่า เอกสารบางฉบับอาจถูกปล่อยออกมาเป็นปีแล้ว ก่อนที่กระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ จะรู้ตัว ทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ ดูไม่น่าเชื่อถือและไร้ความสามารถ

“ข้อเท็จจริงที่ว่า เด็กอายุ 21 ปีเข้าถึงข้อมูลแบบนี้ได้ ทำให้พันธมิตรของเรามองเราว่า สะเพร่าและไร้ความสามารถ” นายมาร์ตินกล่าว

ทำเนียบขาวสหรัฐฯ พยายามตอบคำถามที่เกี่ยวข้องกับความกังวลเรื่องนี้ ระบุว่า กระทรวงกลาโหมจะเพิ่มความเข้มงวดในการเข้าถึงข้อมูลอ่อนไหวมากขึ้น และการสืบสวนเรื่องราวทั้งหมดกำลังดำเนินต่อไป แต่นายมาร์ติน ซึ่งเป็นผู้นำทีมของ CIA ตามรอย โอซามา บิน ลาเดน และสมาชิกระดับปฏิบัติการมากมายของกลุ่มอัลเคดาจนเจอ เชื่อว่า สภาพแวดล้อมที่ทำให้เกิดการรั่วไหลของข้อมูลแบบนี้ได้ เป็นความผิดของตัวรัฐบาลเอง

“ในปี 2545-2546 หลังจากเหตุการณ์ 9/11 มีความพยายามผลักดันครั้งใหญ่จากกระทรวงกลาโหม, กองอำนวยการข่าวกรองแห่งชาติ (DNI) และสภาคองเกรสให้รวมข้อมูลข่าวกรองเอาไว้ด้วยกัน” นายมาร์ตินกล่าวและเสริมว่า ตัวเขาในตอนนั้นก็เกิดความกังวลแล้วว่า การทำเช่นนี้อาจเปิดช่องทางเข้าถึงข้อมูลอ่อนไหวสูงมากเกินไป

เจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ หลายคนเชื่อว่า การขาดการแชร์ข้อมูลระหว่างหน่วยงานข่าวกรองต่างๆ ของสหรัฐฯ ก่อนเกิดเหตุโจมตีเมื่อ 11 กันยายน 2544 ทำให้ประเทศอยู่ในจุดบอดและไม่พร้อมรับมือการโจมตี นโยบายหลังจากนั้นเปลี่ยนเป็นเน้นเพิ่มการแบ่งปันข้อมูลแทน

แต่นายมาร์ตินเชื่อว่า แนวทางปฏิบัตินี้นี่แหละที่นำไปสู่การรั่วไหลของข้อมูลข่าวกรองที่สหรัฐฯ ต้องรับมือในวันนี้ “ฐานข้อมูลทั้งหมดถูกนำมารวมกัน แล้วตอนนี้ก็มีทหารกองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิอายุ 21 ปีจากที่ไหนก็ไม่รู้ มาเข้าถึงความลับการปฏิบัติการของ CIA ทำให้ข้อมูลลับสุดยอดของวอชิงตันกลายเป็นเหมือนเกมเล็กๆ น้อยๆ”

“ชายคนหนึ่งในเพนตากอนที่ทำหน้าที่นับรถถัง ไม่จำเป็นต้องมีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูลต่อต้านการก่อการร้ายของ CIA หรือข้อมูลเชิงปฏิบัติการที่อ่อนไหวขนาดนั้นก็ได้” นายมาร์ตินกล่าว “นี่มันหายนะอย่างสิ้นเชิง”

...

นายแจ็ก เตซารา ทหารหนุ่มผู้ถูกจับฐานเกี่ยวข้องกับการเผยแพร่ข้อมูลลับของสหรัฐ
นายแจ็ก เตซารา ทหารหนุ่มผู้ถูกจับฐานเกี่ยวข้องกับการเผยแพร่ข้อมูลลับของสหรัฐ

ความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ สั่นคลอน

ผลที่ตามมาจากการรั่วไหลนี้สำหรับพันธมิตรนานาชาตินั้นร้ายแรง “พันธมิตรของเราเชื่อถือเราไม่ได้แล้ว นั่นเป็นเหตุผลที่ชาติตะวันออกกลาง พยายามติดต่อหารือกับจีน และซาอุดีอาระเบียหันไปคุยกับอิหร่าน (ที่เคยเป็นอริกัน) ทำไมน่ะหรือ? ก็เพราะมีสุญญากาศในความเป็นผู้นำของอเมริกันไง”

ขณะเดียวกัน ผู้บริหารของบริษัทในอุตสาหกรรมกองทัพแห่งหนึ่ง ผู้ไม่ประสงค์ออกนาม ตั้งคำถามว่า ทหารชั้นผู้น้อยคนหนึ่งสามารถเข้าถึงข้อมูลของซีไอเอได้อย่างไร “ทหารหนุ่มคนหนึ่งจาก ANG มีสิทธิ์เข้าถึงแบบนี้ได้อย่างไร? เด็กคนนี้มีข้อมูลเหล่านี้เก็บอยู่ที่ฐานของ ANG ในเคป คอด หรือ? แล้วเขาพิมพ์มันแล้วนำมันกลับบ้านได้ยังไง?”

“ที่แปลกอีกอย่าง หนึ่งในเอกสารรั่วไหล เป็นเอกสารภายในของ CIA คำว่าภายในหมายความว่า มันจะไม่ถูกเผยแพร่ต่อไปยังหน่วยงานอื่นๆ แม้แต่ภายในองค์กรด้านการข่าวกรองด้วยกัน แล้วมันออกไปได้ยังไง?”

แต่ที่สำคัญ ผู้บริหารรายนี้กล่าว การรั่วไหลที่เกิดขึ้นสร้างความเสียหายต่อความน่าเชื่อถือ และความเชื่อใจในหมู่พันธมิตรของสหรัฐฯ “จุดสำคัญไม่ใช่ตัวคนเผยแพร่ แต่เป็นข้อเท็จจริงที่ว่า เอกสารเหล่านี้หลุดออกไปได้ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง เป็นเอกสารที่บอกว่า ผู้เชี่ยวชาญรู้มาเป็นเดือนๆ แล้วว่า ยูเครนอาจไม่ชนะสงครามนี้”

“ถึงเราป่าวประกาศบอกทุกคนต่อไปว่า ‘รัสเซียกำลังจะแพ้ในอีกไม่ช้า’ แต่เราเสียความน่าเชื่อถือนั้นไปแล้ว” เขากล่าว “นั่นคือเหตุผลว่าทำไม อินเดีย, แอฟริกา, ตะวันออกกลาง และอื่นๆ พยายามออกนโยบายเป็นของตัวเอง และมีเครือข่ายข่าวกรองของตัวเอง”





ผู้เขียน : ทิตชนม์ สว่างศรี

ที่มา : cnbc , the guardian

...