มาร์ซูเพียล (marsupial) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีกระเป๋าหน้าท้อง เช่น จิงโจ้, โคอาลา, วอมแบท, พอสซัม ฯลฯ ล้วนเป็นสัตว์เอกลักษณ์ของออสเตรเลีย แต่นักวิจัยยังรู้น้อยมากเกี่ยวกับวิวัฒนาการช่วงแรกของมาร์ซูเพียล เพราะไม่มีหลักฐานคือซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิลจากช่วงเวลา 25–55 ล้านปีก่อนในออสเตรเลีย

ล่าสุดมีการค้นพบซากฟอสซิลบางส่วนของมาร์ซูเพียล จากพื้นที่ใกล้อลิซ สปริงส์ ในภาคกลางของออสเตรเลีย ซากดังกล่าวระบุว่าเป็นของมาร์ซูเพียลที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่พบในออสเตรเลีย นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฟินเดอร์สในออสเตรเลียเผยว่า ได้เก็บตัวอย่างซากที่แตกต่างกัน 35 ตัวอย่างจากหินปูนแข็ง ทั้งกะโหลก กระดูก และกรามหลายชิ้น เมื่อนำมาศึกษาก็อธิบายได้ว่าสัตว์โบราณตัวนี้คล้ายลูกผสมระหว่างวอมแบทยุคใหม่กับสิงโตมาร์ซูเพียลชื่อ Thylacoleo carnifex นักวิจัยเผยว่าซากฟอสซิลนี้ไม่เคยรู้จักมาก่อน ได้รับการตั้งชื่อว่า Mukupirna fortidentata อาจมีน้ำหนักมากถึง 50 กิโลกรัม เคยอยู่บนโลกเมื่อ 25 ล้านปีก่อน

เมื่อพิจารณาซากฟันก็ค่อนข้างยืนยันได้ว่า Mukupirna fortiden tata ไม่ใช่สัตว์กินเนื้อ แต่น่าจะเชี่ยวชาญในการแปรรูปอาหารแข็ง เช่น ผลไม้แข็ง ถั่ว และหัวใต้ดินของพืช และด้วยน้ำหนัก 50 กิโลกรัม Mukupirna fortidentata อาจเป็นหนึ่งในสัตว์มีกระเป๋าหน้าท้องที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของออสเตรเลียที่อาศัยอยู่ในช่วงเวลานั้น การค้นพบนี้ชี้ให้เห็นถึงวิวัฒนาการของสัตว์มีกระเป๋าหน้าท้องในยุคปัจจุบัน นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังพบซากของสายพันธุ์ที่เชื่อว่าเป็นญาติของพอสซัมโบราณที่แหล่งฟอสซิลชื่อ Pwerte Marnte Marnte อีกด้วย.