เมื่อกว่า 6 ปีก่อน บริษัทเทคโนโลยี “ไบต์แดนซ์” ของจีน เปิดตัวแพลตฟอร์มคลิปวิดีโอสั้นสำหรับผู้ใช้ในประเทศที่เรียกว่า “โต่วอิน” ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมหาศาล มีคนใช้งานหลักร้อยล้านคน

แต่สำหรับตลาดนานาชาตินั้น แพลตฟอร์มดังกล่าวไม่ได้เรียกว่าโต่วอิน แต่ใช้ชื่อว่า TikTok (ติ๊กต่อก) เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อเดือน ส.ค. 2561 และได้รับการขนานนามว่า เป็นแพลตฟอร์มที่เติบโตอย่างรวดเร็ว เคยได้รับความนิยมแซงหน้ากูเกิล ด้วยจำนวนผู้ใช้งานประจำหลักพันล้านคนในกว่า 150 ประเทศทั่วโลก มีการดาวน์โหลดติดตั้งในโทรศัพท์มือถือมากกว่า 3,000 ล้านครั้ง

อย่างไรก็ตาม แม้เวทีสากลจะยึดมั่นต่อหลักการ “แข่งขันอย่างเสรี” มากเพียงใด ก็ย่อมหนีไม่พ้นจากกรอบของ “การเมืองและความมั่นคง” อยู่วันยังค่ำ โดยเฉพาะสถานการณ์ ณ เพลานี้ที่การเผชิญหน้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ขั้วมหาอำนาจตะวันตก-ตะวันออกยิ่งเด่นชัดมากขึ้นทุกขณะ ไม่ว่าจะเป็นสงครามการค้า ปัญหาพิพาททะเลจีนใต้ หรือความตึงเครียดช่องแคบไต้หวัน

...

ด้วยความโด่งดังของติ๊กต่อกในสหรัฐฯ จึงหนีไม่พ้นที่แพลตฟอร์มจะตกอยู่ในความเพ่งเล็งของรัฐบาลสหรัฐฯเช่นกัน ในสมัยของโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ เคยมีการข่มขู่ติ๊กต่อกให้ขายกิจการหากไม่อยากถูกแบนการใช้งานในสหรัฐฯ ตามด้วยสมัยของโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯคนปัจจุบัน ซึ่งเริ่มจะมาแรงจริงๆในช่วงปีนี้ มีการออกคำสั่งให้หน่วยราชการส่วนกลางต่างๆ มีเวลา 30 วันในการลบติ๊กต่อกออกจากอุปกรณ์ทำงาน

เช่นเดียวกับหน่วยงานในรัฐต่างๆ ซึ่งตอนนี้มีประมาณ 24 รัฐ ที่นับตั้งแต่เดือน พ.ย.2565 ได้มีคำสั่งแบนแอปพลิเคชันติ๊กต่อก ในอุปกรณ์ของรัฐ ลามไปจนถึงมหาวิทยาลัยในรัฐเท็กซัส อลาบามา และไอดาโฮ ที่ห้ามการใช้งานติ๊กต่อกผ่านระบบไวไฟอินเตอร์เน็ตไร้สายของมหาวิทยาลัย ขณะที่กองทัพบก กองทัพอากาศ กองทัพนาวิกโยธิน และหน่วยยามชายฝั่งสหรัฐฯ มีคำสั่งห้ามใช้ติ๊กต่อกไปแล้วตั้งแต่ 3 ปีก่อน

ไม่รวมถึงบรรดาชาติพันธมิตรของสหรัฐฯ ที่ดำเนินการ “แบนติ๊กต่อก” ไปตามๆกัน ไม่ว่าสหราชอาณาจักร แคนาดา ฝรั่งเศส ฝ่ายบริการราชการของสหภาพยุโรป และรัฐสภานิวซีแลนด์

เป้าประสงค์ของสหรัฐฯที่ต้องการแบนการใช้งานติ๊กต่อกนั้น ปรากฏชัดในกระบวนการเรียกตัว “โจว โช่ว ซือ” (อ่านตามคำภาษาจีน) ผู้บริหารติ๊กต่อกชาวสิงคโปร์ มาให้การต่อคณะกรรมาธิการวุฒิสภาสหรัฐฯเป็นเวลานานกว่า 5 ชั่วโมงเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา นั่นคือความกังวลและความหวาดกลัวชนิดฝังหัวว่า ข้อมูลผู้ใช้งานหรือข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง “อาจตกไปอยู่ในมือของพรรคคอมมิวนิสต์จีน” เนื่องด้วยรัฐบาลจีนมีอำนาจทางความมั่นคงในการขอข้อมูลใดๆจากบริษัทเอกชน

ยิ่งไปกว่านั้น ส.ส.สหรัฐฯทั้งจากพรรครัฐบาลเดโมแครตและฝ่ายค้านรีพับลิกันยังเห็นสมควรว่าจะดำเนินการทั้งที ต้องจัดการให้ราบคาบและเด็ดขาด ด้วยการเสนอ ร่างกฎหมาย S.686 ที่ชื่อว่า “กฎหมายจำกัด” (Restrict Bill) แต่จะเรียกให้ชาวบ้านเข้าใจง่ายๆว่า “กฎหมายแบนติ๊กต่อก”

โดยมีใจความสำคัญคือ การห้ามใช้งานเทคโนโลยีทางอินเตอร์เน็ตใดๆที่เป็นของ “ศัตรูต่างชาติ” ซึ่งศัตรูในที่นี้อาจหมายถึงสาธารณรัฐประชาชนจีน รวมเขตบริหารพิเศษฮ่องกง คิวบา อิหร่าน เกาหลีเหนือ รัสเซีย หรือเวเนซุเอลา แต่ก็สามารถเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมได้ตลอดเวลาขึ้นอยู่กับสถานการณ์ สิ่งที่ห้ามใช้มีทั้งซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ อาทิ อุปกรณ์ไร้สาย เครือข่ายอินเตอร์เน็ต เราเตอร์ กล้องคอมพิวเตอร์ ระบบลวงสัญญาณอินเตอร์เน็ต VPN ตราบเท่าที่สิ่งเหล่านี้ผลิตโดย...ใช้งานโดย...หรือมีส่วนเกี่ยวข้องใดๆกับคำจำกัดความ “ศัตรูต่างชาติ” ของรัฐบาลสหรัฐฯ

บุคคลใดที่ล่วงละเมิดกฎหมาย เช่นการใช้ VPN เพื่อเล่นแอปพลิเคชันติ๊กต่อก จะถือว่ามีโทษทางอาญา อาจได้รับโทษจำคุกขั้นต่ำ 20 ปี และปรับเงินขั้นต่ำ 250,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 8.5 ล้านบาท หรือปรับเงินสูงสุดถึง 1 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 34 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับว่าจงใจมากน้อยเพียงใด

กฎหมาย S.686 ยังให้อำนาจหน่วยงานรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ในการจับตากิจกรรมใดๆ ที่อาจเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีเหล่านี้ หรือให้เข้าใจง่ายๆได้ว่า หากตกอยู่ในเป้าสงสัยเมื่อใด รัฐก็สามารถ “สอดแนม” การใช้งานอุปกรณ์ใดๆที่เชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตได้ตลอด 24 ชั่วโมง

พร้อมให้อำนาจประธานาธิบดีสหรัฐฯในการตั้งคณะทำงานมากำกับดูแล ซึ่งคณะทำงานเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องมีการเปิดเผยข้อมูลแก่สาธารณชน สามารถดำเนินการใดๆที่จำเป็น หากเห็นว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงสหรัฐฯ ซึ่งมีสื่อบางกระแสมองว่า มีลักษณะไม่ต่างกับ Patriot Act กฎหมายรักชาติสมัยอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ที่ให้อำนาจสุดลิ่มทิ่มประตูแก่หน่วยงานความมั่นคง จัดการเรื่องใดๆที่มองว่าเป็นภัยคุกคามก่อการร้าย

...

นักวิเคราะห์บางส่วนมองด้วยว่า หากกฎหมายได้รับการสนับสนุนและมีผลบังคับใช้เมื่อใด รัฐบาลสหรัฐฯก็จะมีอำนาจอย่างเต็มที่ในการควบคุมโลกออนไลน์ ตรวจตราการใช้งาน อีเมล และดำเนินคดีใครก็ได้ที่รัฐมองว่าเข้าข่ายเป็นภัย...ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วก็ไม่ต่างอะไรกับการควบคุมอินเตอร์เน็ตของจีนที่รัฐบาลสหรัฐฯวิพากษ์วิจารณ์อยู่ตลอดเวลา!?

วีรพจน์ อินทรพันธ์