นักดาราศาสตร์ค้นพบหลุมดำมวลยิ่งยวดมหาศาล มวลใหญ่กว่าดวงอาทิตย์กว่า 30,000 ล้านเท่า นับเป็นหลุมดำขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยพบมา
เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2566 สำนักข่าว CNN รายงานว่า ราชสมาคมดาราศาสตร์ของอังกฤษ เผยแพร่งานวิจัยผลการค้นพบ "หลุมดำมวลยิ่งยวดมหาศาล" ซึ่งมีมวลใหญ่กว่าดวงอาทิตย์ถึง 30,000 ล้านเท่า อยู่ในกาแล็กซีอันไกลโพ้น ห่างจากโลกหลายร้อยล้านปีแสง นับเป็นหลุมดำมวลยิ่งยวดขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่นักดาราศาสตร์เคยค้นพบมา
ทีมนักดาราศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเดอรัม ของอังกฤษ เปิดเผยว่า เป็นการค้นพบผ่านเทคนิค "เลนส์ความโน้มถ่วง" (Gravitational lens) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ เกิดจากการบิดโค้งของแสงที่เดินทางมาจากระยะทางไกลมากๆ เมื่อแสงผ่านเข้าใกล้วัตถุขนาดใหญ่ ขณะเดียวกันภาพถ่ายจากกล้องอวกาศฮับเบิล ที่ผ่านการจำลองภาพโดยซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ ก็ได้ช่วยยืนยันถึงขนาดมหึมาของหลุมดำมวลยิ่งยวดนี้
เจมส์ ไนติงเกล นักจักรวาลวิทยาแห่งคณะฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยเดอรัม เปิดเผยว่า การค้นพบครั้งนี้ทำให้นักดาราศาสตร์ตื่นเต้นเกี่ยวกับขนาดใหญ่แบบไร้ขีดจำกัดของหลุมดำ ซึ่งนับเป็นการค้นพบที่จะเป็นแรงบันดาลใจในการสำรวจหลุมดำใหม่ๆ ต่อไปในอนาคต ขณะที่ตอนนี้นักดาราศาสตร์ได้เริ่มทำการสำรวจหลุมดำนี้อย่างละเอียดมากขึ้น ด้วยกล้องฮับเบิลและซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ DiRAC COSMA8 ขององค์การบริหารการบินอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ หรือนาซา
ทั้งนี้ หลุมดำมวลยิ่งยวดมหาศาล เป็นวัตถุขนาดใหญ่ที่สุดในจักรวาล และนักดาราศาสตร์ไม่ค่อยได้ค้นพบบ่อยนัก ขณะที่ต้นกำเนิดของมันยังไม่เป็นที่แน่ชัด บางทฤษฎีเชื่อว่า มันก่อตัวขึ้นจากการรวมตัวกันของกาแล็กซีต่างๆ เมื่อหลายพันล้านปีก่อน ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่ทำให้ดาวฤกษ์ดับ และก่อให้เกิดมวลของหลุมดำ.
...