อีลอน มัสก์ กับผู้บริหารบริษัท และผู้เชี่ยวชาญอีกนับพันคน ลงนามในจดหมายเปิดผนึก เรียกร้องให้บริษัทต่างๆ ระงับการพัฒนา AI ไว้ก่อน เพื่อศึกษาผลกระทบที่อาจเกิดต่อสังคม

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานในวันพุธที่ 29 มี.ค. 2566 ว่า อีลอน มักส์ นักธุรกิจและมหาเศรษฐีชื่อก้องโลก ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) กับผู้บริหารบริษัทไอทีอีกนับพันคน ร่วมลงนามในจดหมายเปิดผนึก เรียกร้องให้บริษัทต่างๆ หยุดการพัฒนาระบบ AI ทรงพลังเป็นเวลา 6 เดือน จนกว่าจะมีมาตรการกำกับดูแลที่ชัดเจน เนื่องจากกังวลว่ามันจะส่งผลกระทบต่อสังคม

เมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา บริษัท OpenAI ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก ไมโครซอฟท์ เปิดตัวโปรแกรมเอไอ ‘ChatGPT’ รุ่นที่ 4 ซึ่งสร้างความตกตะลึงแก่ผู้ใช้งานอย่างมากเนื่องจากความฉลาดของมัน ที่สามารถสื่อสารได้เหมือนมนุษย์, ประพันธ์เพลงได้, สรุปเอกสารที่ยืดยาวได้ และความสามารถด้านภาษาอื่นๆ อีกมากมาย

“ระบบ AI ที่ทรงพลังควรถูกพัฒนาเมื่อเรามั่นใจแล้วว่า ผลกระทบของมันจะเป็นไปในเชิงบวก และความเสี่ยงของมันสามารถจัดการได้” จดหมายเปิดผนึกซึ่งออกโดยสถาบัน Future of Life Institute ระบุ จดหมายยังเรียกร้องให้ผู้พัฒนาทั้งหลายทำงานร่วมกับสมาชิกสภานิติบัญญัติเพื่อออกมาตรการกำกับดูแล

“เราควรปล่อยให้เครื่องจักรป้อนช่องทางสื่อสารของเราด้วยโฆษณาชวนเชื่อและความเท็จจนล้นหรือ? เราควรพัฒนาจิตใจของสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ที่ในท้ายที่สุดมันอาจเพิ่มจำนวนมากกว่า, ฉลาดแซงหน้า, ทำให้เราล้าหลัง และมาแทนที่เราอย่างนั้นหรือ?” จดหมายระบุ และเสริมว่า การตัดสินใจเช่นนั้นต้องไม่ได้มาจากผู้นำบริษัทเทคโนโลยีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

ก่อนหน้านี้ในช่วงต้นเดือนมีนาคม นายมัสก์ออกมาแสดงความกังวลเกี่ยวกับการพัฒนาอย่างรวดเร็วของปัญญาประดิษฐ์ ระบุว่า “AI ทำให้ผมเครียด” นายมัสก์ยังเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ รับประกันให้ได้ว่า การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์จะทำให้เกิดสาธารณประโยชน์

...

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญหลายคนก็ออกมาตำหนินายมัสก์ กล่าวหาว่าเป็นคนเสแสร้งที่ร่วมลงนามในจดหมายเปิดผนึกนี้ เนื่องจากเขาเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท OpenAI และบริษัท Tesla ของนายมัสก์ก็ใช้ AI ในระบบขับรถอัตโนมัติ

“มันเป็นการเสแสร้งเหลือเกินสำหรับนายมัสก์ ที่ลงนามจดหมายนี้ เมื่อดูจากความพยายามมากมายของ Tesla ที่ต่อสู้เพื่อไม่ให้ตัวเองต้องรับผิดชอบจากความผิดพลาดของ AI ในระบบขับรถอัตโนมัติของพวกเขา” ศ.เจมส์ กริมเมลมันน์ ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายดิจิทัลและสารสนเทศ ที่มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ กล่าว

“การหยุดชั่วคราวเป็นความคิดที่ดี แต่จุดหมายนั้นกำกวมและไม่ได้จริงจังเรื่องปัญหาด้านการกำกับดูแล”

ขณะที่ศาสตราจารย์ แกรี มาร์คัส จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมลงนามจดหมายกล่าวว่า “จดหมายฉบับนี้ไม่ได้สมบูรณ์แบบ แต่เจตนานั้นถูกต้อง เราจำเป็นต้องชะลอ (การพัฒนา AI) จนกว่าเราจะเข้าใจลักษณ์หรือปัญหาที่เกี่ยวข้องมากกว่านี้”

ทั้งนี้ จดหมายเปิดผนึกดังกล่าวลงนามโดยบุคคลมากกว่า 1,000 คนรวมถึง อีลอน มัสก์, นายเอมัด มอสทาค ซีอีโอบริษัท Stability AI, ทีมนักวิจัยของบริษัท DeepMind ซึ่งอยู่ในเครือของอัลฟาเบท และนายโยชัว เบนจิโอ ผู้ถูกเรียนขานบ่อยครั้งว่า เป็นหนึ่งในบิดาแห่ง AI กับนาย สจอร์ต รัสเซลล์ หนึ่งในผู้บุกเบิกการวิจัยด้านปัญญาประดิษฐ์

แต่นายแซม อัลต์แมน หัวหน้าผู้ของบริษัท OpenAI ไม่ได้ร่วมลงนาม เช่นเดียวกับนายซันดาร์ พิชัย และนายสัตยา นาเดลลา ซีอีโอของบริษัท อัลฟาเบท และไมโครซอฟท์

ความกังวลดังกล่าวเกิดขึ้นในขณะที่ ความสามารถมากมายของ ChatGPT ไปดึงดูดสายตาสมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ ซึ่งออกมาตั้งคำถามเรื่องผลกระทบที่ AI ตัวนี้มีต่อความมั่นคงของชาติและการศึกษา ด้านสำนักงานตำรวจแห่งสหภาพยุโรป หรือ ยูโรโพล (Europol) เตือนเมื่อวันจันทร์ว่า มีความเป็นไปได้ที่ ChatGPT จะถูกใช้ไปในทางที่ผิดเพื่อการหลอกลวง, เผยแพร่ข้อมูลเท็จ และก่ออาชญากรรมทางไซเบอร์

ที่มา : reuters