รัฐบาลฝรั่งเศสของเอ็มมานูเอล มาครง รอดพ้นจากการลงมติไม่ไว้วางใจ 2 ครั้งในสภา เปิดทางเดินหน้าแผนปฏิรูปเงินบำนาญต่อ แม้ประชาชนประท้วง
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า เมื่อวันจันทร์ที่ 20 มี.ค. 2566 รัฐบาลฝรั่งเศสของประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาครง รอดจากการลงมติไม่ไว้วางใจ 2 รอบในรัฐสภา เปิดทางให้เขาเดินหน้าเพื่อบังคับใช้แผนการปฏิรูปเงินบำนาญ แม้ประชาชนจะต่อต้านอย่างหนักจนเกิดการประท้วงในหลายเมืองทั่วประเทศเมื่อสัปดาห์ก่อน
การลงมติครั้งแรกที่ยื่นญัตติโดยกลุ่มการเมือง LIOT ซึ่งประกอบด้วยพรรคการเมืองขนาดเล็กมากมาย มีสมาชิกรัฐสภาโหวตไม่ไว้วางใจ 278 เสียง ขาดอีกเพียง 9 เสียงจะได้เสียงข้างมาก ขณะที่การลงมติไม่ไว้วางใจครั้งที่ 2 ซึ่งยื่นญัตติโดยพรรคขวาจัดย่าง ‘National Rally’ มีสมาชิกสภาสนับสนุนเพียง 94 เสียงเท่านั้น
ความเคลื่อนไหวล่าสุดในฝรั่งเศสนี้ เกิดขึ้นหลังจากรัฐบาลของนายมาครงใช้อำนาจพิเศษตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49.3 ในวันพฤหัสบดีที่ 16 มี.ค. เพื่อให้รัฐบาลสามารถผ่านกฎหมายปฏิรูปเงินบำนาญ ซึ่งจะเพิ่มอายุเกษียณของแรงงานส่วนใหญ่จาก 62 ปีเป็น 64 ปีได้โดยไม่ต้องมีการลงมติในสภา ทำให้เกิดคลื่นการประท้วงไปทั่วประเทศ
...
และแม้ว่ารัฐบาลจะรอดจากการลงมติไม่ไว้วางใจ แต่กระแสความไม่พอใจของสังคมยังไม่มีทีท่าจะลดลง โดยมีผู้คนจำนวนมากมารวมตัวประท้วงกลางกรุงปารีส ตามหลังการลงมติในรัฐสภา
ทั้งนี้ ฝรั่งเศสเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอายุเกษียณต่ำที่สุดในหมู่ประเทศอุตสาหกรรม แต่ใช้งบประมาณไปกับเงินบำนาญถึง 14% ของผลผลิตทางเศรษฐกิจ มากกว่าประเทศส่วนใหญ่
รัฐบาลของนายมาครงมองว่า ระบบในปัจจุบันซึ่งต้องพึ่งพาประชากรวัยทำงานในการจ่ายเงินให้แก่กลุ่มประชากรวัยเกษียณที่มีอายุมากขึ้น ไม่ใช่เรื่องที่เหมาะสมตามวัตถุประสงค์อีกต่อไป จึงตัดสินใจเดินหน้าแผนปฏิรูปเงินบำนาญ
ที่มา : cnn