เปิดฟ้าส่องโลกเคยรับใช้ผู้อ่านท่านที่เคารพว่า ประเทศที่มีข้อพิพาทมักจะใช้กำลังรบกันให้รู้แพ้รู้ชนะ ประเทศที่มีกำลังและอาวุธด้อยกว่าก็จะเสียเปรียบ ทางแก้ไขคือต้องระงับข้อพิพาท การระงับข้อพิพาททำโดยสันติวิธี มีทั้งการระงับที่ไม่ผูกพันคู่กรณี (การเจรจา การไกล่เกลี่ย การประนอม) และผูกพันคู่กรณีซึ่งระงับโดยใช้บริการของ 1.ศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ 2.ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) และ 3.ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC)

ศาลอาญาระหว่างประเทศหรือไอซีซี ตั้งอยู่ที่กรุงเฮก เนเธอร์แลนด์ (เหมือนกับศาลยุติธรรมระหว่างประเทศและศาลอนุญาโตตุลาการ) ไอซีซีมีรัฐภาคีของธรรมนูญกรุงโรม (สนธิสัญญาระหว่างประเทศในการก่อตั้งไอซีซี) 123 รัฐ (33 รัฐในแอฟริกา 19 รัฐในเอเชีย-แปซิฟิก 18 รัฐยุโรปตะวันออก 28 รัฐในลาตินอเมริกาและแคริบเบียน และ 25 รัฐในยุโรปตะวันตกและชาติรัฐอื่นๆ) แต่สหรัฐฯ รัสเซีย จีน และอินเดีย ไม่เป็นสมาชิกไอซีซีนะครับ แม้แต่ไทยก็ไม่เป็นสมาชิกไอซีซีเช่นกัน

ศาลอาญาระหว่างประเทศเป็น “ศาลประจำระหว่างประเทศ ที่ตั้งขึ้นศาลแรก” เพื่อพิจารณาความผิดของบุคคลธรรมดา ก่อนจะมีการตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศก็มีศาลระหว่างประเทศเฉพาะกิจที่ตั้งขึ้นเพื่อพิจารณาความผิดของบุคคลธรรมดา หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง มีการตั้งศาล Nuremberg เพื่อพิจารณาอาชญากรสงครามเยอรมันที่กระทำผิดในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นอกจากนั้นก็มี ศาลอาชญากรรมสงครามยูโกสลาฟ ศาลการทำลายล้างเผ่าพันธุ์รวันดา รวมทั้งองค์คณะพิเศษในศาลกัมพูชาที่ตั้งขึ้นเพื่อพิจารณาความผิดของผู้นำเขมรแดง

ไอซีซีเป็นศาลระหว่างประเทศที่ตั้งขึ้นใหม่โดยธรรมนูญกรุงโรม ว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ ค.ศ.1998 เป็นศาลที่คู่กับศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ มีเจตนารมณ์เพื่อรักษาสันติภาพและความยุติธรรมของโลก โดยจะพิจารณาลงโทษบุคคลที่ก่ออาชญากรรมร้ายแรงที่สุด 4 ความผิดคือ อาชญากรรมอันเป็นการทำลายล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ อาชญากรรมสงคราม และอาชญากรรมอันเป็นการรุกราน

...

อาชญากรรมสงครามคือการกระทำที่เป็นการละเมิดอนุสัญญาเจนีวา ค.ศ.1949 โดยการฆ่าโดยจงใจ การทรมาน การทดลองยา การจงใจทำให้เกิดทุกข์อย่างมาก หรือการทำให้บาดเจ็บสาหัสต่อร่างกายหรือสุขภาพ การทำลาย และการยึดทรัพย์สินซึ่งไม่มีความจำเป็นทางทหาร การบังคับให้เชลยศึกเข้าเป็นกองกำลังของฝ่ายศัตรู การไม่ให้เชลยศึกได้รับสิทธิในการดำเนินคดีอย่างยุติธรรม การเนรเทศหรือการย้ายโอนหรือกักขังอย่างผิดกฎหมาย การจับเป็นตัวประกัน

การโจมตีพลเรือนซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสู้รบ การโจมตีสิ่งของทางพลเรือนซึ่งไม่ใช่เป้าหมายทางทหาร การโจมตีบุคคล สิ่งปลูกสร้าง ยานพาหนะที่เกี่ยวกับการช่วยเหลือทางมนุษยธรรม การโจมตีโดยรู้ว่าจะก่อให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตหรือทรัพย์สินของฝ่ายพลเรือนอย่างกว้างขวางหรือสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ ซึ่งเกินกว่า การได้ประโยชน์ทางทหาร การฆ่าหรือทำให้นักรบที่วางอาวุธแล้วบาดเจ็บ การโจมตีหมู่บ้าน เมือง ที่อยู่อาศัยซึ่งไม่มีการป้องกันตนเอง และไม่ใช่เป้าหมายทางทหาร การใช้ธงพักรบ ธงหรือเครื่องหมายทหาร หรือเครื่องแบบของฝ่ายศัตรูในทางที่ไม่ถูกต้อง รวมทั้งการใช้เครื่องหมายกาชาดซึ่งทำให้เกิดการตายหรือบาดเจ็บสาหัส ฯลฯ

17 มีนาคม 2566 ไอซีซีออกแถลงการณ์การออกหมายจับปูตินและนางมาเรีย อเล็กเซเยฟนา ลโววา-บีโลวา กรรมาธิการด้านสิทธิเด็กประจำสำนักงานประธานาธิบดีรัสเซียในข้อหาอาชญากรรมสงคราม และกล่าวหาว่าปูตินมีส่วนเกี่ยวข้องกับการบังคับขนย้ายเด็กอย่างผิดกฎหมายจากพื้นที่ยึดครองของอูเครนไปยังรัสเซีย

สหรัฐฯไม่เป็นภาคีไอซีซี แต่ไบเดนออกมาหนุนให้ไอซีซีรีบจับปูติน

ค.ศ.2020 ไอซีซีสอบสวนสหรัฐฯ ข้อหาก่ออาชญากรรมสงครามในอัฟกานิสถาน นายปอมเปโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯในตอนนั้นด่าว่า ไอซีซีทำตัวเป็นศาลเตี้ยและกล่าวหาว่ารัสเซียอยู่เบื้องหลังการที่ไอซีซีสอบสวนสหรัฐฯ

ค.ศ.2020 สหรัฐฯบอก “ข้าไม่สนไอซีซี”

ค.ศ.2023 รัสเซียบอก “ไม่สนไอซีซี”.

นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com