การแบ่งมรดกเป็นเรื่องอ่อนไหวสำหรับทุกครอบครัว โดยเฉพาะครอบครัวเศรษฐีมีอันจะกิน จึงไม่แปลกที่เกิดคดีมรดกเลือดห้ำหั่นกันระหว่างพี่น้องเพื่อแย่งชิงสมบัติ แต่สำหรับ “พระราชวงศ์อังกฤษ” คำจำกัดความของคำว่า “มรดก” กลายเป็นคนละเรื่องกับสามัญชน เพราะมีเพียงกษัตริย์องค์ใหม่พระองค์เดียวที่จะได้รับมรดกตกทอดจากกษัตริย์ผู้ล่วงลับโดยไม่ต้องแบ่งสรรปันส่วนให้ใคร

การที่สื่ออังกฤษบางสำนักออกมาตีข่าวว่า “เจ้าชายแอนดรูว์” ทรงน้อยอกน้อยใจที่ไม่ได้รับแบ่งมรดกสักปอนด์เดียวจากพระราชมารดาผู้ล่วงลับ “ควีนเอลิซาเบธที่สอง” ก็เห็นจะเป็นการใส่สีตีไข่เกินความจริง โดยมีการอ้างแหล่งข่าวใกล้ชิดว่า “ดยุกแห่งยอร์ก” รู้สึกผิดหวังที่พระเชษฐา “กษัตริย์ชาร์ลส์ที่สาม” ทรงไม่แบ่งทรัพย์สมบัติใดๆของพระราชมารดาให้เลย ทั้งๆที่พระองค์อยู่ในสถานะตกงาน, ถูกถอดยศทหาร, ต้องงดการปฏิบัติพระกรณียกิจ และยุติบทบาทองค์อุปถัมภ์การกุศลต่างๆ แถมยังโดนพระเชษฐาสั่งตัดเงินอุดหนุนประจำปี ซึ่งล้วนแต่เป็นผลกรรมมาจากการก่อคดีอื้อฉาวล่วงละเมิดทางเพศผู้เยาว์ จนสร้างความเสื่อมเสียอย่างหนักให้ราชวงศ์อังกฤษ

นับตั้งแต่ขึ้นครองราชบัลลังก์ “กษัตริย์ชาร์ลส์ที่สาม” ทรงพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงสถาบันกษัตริย์ให้มีขนาดเล็กลง โดยตัดลดจำนวนพระราชวงศ์ที่ทรงงานอย่างเป็นทางการ ซึ่งรัฐบาลต้องถวายความดูแลเรื่องงบประมาณให้เหลือเพียงผู้มีความสำคัญต่อการสืบสันตติวงศ์เท่านั้น

พูดถึงเรื่องมรดกตกทอดของราชวงศ์อังกฤษ เป็นที่ทราบกันดี ว่า “สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง” ทรงเป็นประมุขที่ร่ำรวยที่สุดพระองค์หนึ่งของโลก คาดการณ์ว่ามีทรัพย์สมบัติในครอบ ครองมากกว่า 650 ล้านปอนด์ ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่อสังหาริมทรัพย์, ที่ดิน, อัญมณี, ผลงานศิลปะ, ม้าแข่ง และแสตมป์ นอกจากนี้ ยังมีรายได้ส่วนพระองค์จากพระคลังข้างที่ (Privy Purse) อันเป็นดอกผลจากการบริหารงานของสำนักงานจัดการลงทุนทรัพย์สินส่วนพระองค์แห่งแลงคาสเตอร์ (Duchy of Lancaster) ซึ่งครอบครองที่ดินกว่า 18,000 เฮกเตอร์ รวมถึงพื้นที่ในมณฑลแลงคาสเตอร์ ยอร์กเชียร์ และอสังหาริมทรัพย์ใจกลางกรุงลอนดอน พร้อมรายได้เสริมจากทรัพย์สินส่วนพระองค์อื่นๆ เช่น พระตำหนักซานดริงแฮมและพระตำหนักบัลมอรัล โดยทั้งหมดนี้แยกส่วนกับ “เงินปีส่วนพระมหากษัตริย์” (Sovereign Grant) ที่พระประมุขจะได้รับการถวายจากรัฐบาลปีละประมาณ 85.9 ล้านปอนด์ คิดจาก 15% ของผลกำไรจากการบริหารงานของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (Crown Estate) เพื่อใช้สำหรับการปฏิบัติพระกรณียกิจทางการต่างๆของสมาชิกราชวงศ์ ตลอดจนเป็นค่าบำรุงรักษาพระราชวังที่ประทับต่างๆ

...

โชคดีที่ “ควีนเอลิซาเบธที่สอง” ทรงมองการณ์ไกล ได้เจรจาตกลงกับ “นายกรัฐมนตรีจอห์น เมเจอร์” ตั้งแต่ปี 1993 ให้มีการยกเว้นการเก็บภาษีมรดกราชวงศ์ เพราะหากภาษีมรดกถูกนำมาบังคับใช้กับราชวงศ์จริงๆ เมื่อถึงยุคผลัดใบของ “กษัตริย์ชาร์ลส์ที่สาม” ก็คงต้องควักกระเป๋าจ่ายภาษีให้รัฐไม่ต่ำกว่า 40% คิดเป็นมูลค่าหลายล้านปอนด์

ตามรายงานของ “ดิ อินดิเพนเดนต์” ระบุว่า “กษัตริย์ชาร์ลส์ที่สาม” ทรงไม่คิดจะแบ่งมรดกความมั่งคั่งให้พระขนิษฐาและพระอนุชา อย่างไรก็ดี “เจ้าฟ้าหญิงแอนน์” และ “เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด” ต่างได้รับมอบหมายให้ทรงงานอย่างเป็นทางการเพื่อแบ่งเบาพระราชภารกิจ จึงมีสิทธิ์ได้รับเงินอุดหนุนประจำปี ตรงข้ามกับ “เจ้าชายแอนดรูว์” ที่ทรงถูกสั่งงดปฏิบัติพระกรณียกิจมาตั้งแต่ปี 2019 เพราะก่อเหตุอื้อฉาวไว้ เงินอุดหนุนประจำปี 249,000 ปอนด์ ก็น่าจะถูกตัดทิ้งในเร็วๆนี้

ตอกย้ำชัดๆว่าการรัดเข็มขัดและปฏิรูปราชวงศ์ขนานใหญ่คือเป้าหมายสำคัญของ “กษัตริย์ชาร์ลส์ที่สาม” เพื่อแลกกับการรักษาเสถียรภาพของราชบัลลังก์...หมดสมัยแล้วที่จะควักพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อจุนเจือพระราชวงศ์ไปทั่ว โดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชน.

มิสแซฟไฟร์