ทีมนักวิจัยกังวลหนัก พบแมวน้ำกว่า 330 ตัวในสหรัฐฯ ตายเพราะติดเชื้อไข้หวัดนก หวั่นเชื้อไวรัสไข้หวัดนกอาจเกิดการกลายพันธุ์ พัฒนาจนสามารถติดต่อระหว่างคนสู่คนได้ในเร็ววันนี้
เมื่อ 16 มี.ค. 2566 เดลี่เมล รายงาน การระบาดของเชื้อไข้หวัดนกในเขตนิวอิงแลนด์ ซึ่งประกอบด้วย 6 รัฐ ได้แก่ รัฐคอนเนคติกัต, นิวแฮมป์เชียร์, เมน, แมสซาชูเสตต์, โรดไอแลนด์ และเวอร์มอนด์ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ทำให้ แมวน้ำ ตายไปเป็นจำนวนกว่า 330 ตัว เมื่อปีที่แล้ว พ.ศ.2565 จนหวั่นเกรงว่า เชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ดังกล่าวกำลังกระโดดมาสู่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และอาจพัฒนาจนสามารถติดต่อมาสู่มนุษย์ได้ต่อไป
ทีมนักวิจัยที่มหาวิทยาลัย Tufts ในรัฐแมสซาชูเสตต์ พบว่า แมวน้ำเหล่านี้ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ที่รัฐเมน ตายในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2565 ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่ทีมนักวิจัยระบุว่ามีนกทะเลกว่า 1,000 ตัว ในเขตนิวอิงแลนด์ ติดเชื้อไข้หวัดนก
ทีมนักวิจัยที่มหาวิทยาลัย Tufts ยังพบหลักฐานว่ามีเชื้อไข้หวัดนกที่เกิดการกลายพันธุ์ในแมวน้ำจำนวนเล็กๆ จำนวนหนึ่งที่ตาย ซึ่งอาจทำให้เชื้อไข้หวัดนกนี้จะเกิดการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ใหม่ที่สามารถรอดชีวิตในสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างหลากหลายออกไป
ด้าน ดร.ไรอัน มิลเลอร์ แพทย์ด้านโรคติดต่อที่คลีฟแลนด์ คลินิก ในรัฐโอไฮโอ กล่าวกับนักข่าว Healthday ว่า ขณะนี้ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อมีความกังวลอย่างมากในเรื่องที่ว่า เชื้อไวรัสไข้หวัดนกได้แพร่ระบาดมาสู่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเหล่านี้เมื่อใด เพราะว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเหล่านี้เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับมนุษย์
...
ทั้งนี้ เชื้อไข้หวัดนกได้เริ่มระบาดในสหรัฐฯ เมื่อปีที่แล้ว และถือเป็นการระบาดครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ซึ่งกำลังส่งผลกระทบต่อสัตว์ปีกกว่า 200 ล้านตัว
เชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 สามารถแพร่ติดต่อมาสู่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม อย่างเช่นตัวมิงก์ สุนัขจิ้งจอก แรคคูน และหมีได้แล้ว จนทำให้ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อเกิดความกังวลว่าเชื้อไข้หวัดนกอาจจะเกิดการกลายพันธุ์ใหม่ และสามารถติดต่อระหว่างคนสู่คนได้ในเร็ววันนี้ ในขณะที่ประเทศจีนพบคนติดเชื้อไข้หวัดนก 2 ราย ขณะที่กัมพูชามีเด็กหญิงวัย 11 ปีเสียชีวิตเป็นรายแรกในประเทศในรอบหลายปี.
Cr ภาพ : @NOAA