นักวิจัยในบราซิลพบหินที่มีส่วนประกอบเป็นพลาสติก ที่เกาะตรินดาจี ซึ่งเป็นแหล่งวางไข่ของเต่าตนุ ห่างจากแผ่นดินใหญ่เป็นพันกิโลเมตร ชี้ให้เห็นถึงพิษภัยของพลาสติกที่แทรกซึมไปได้ทุกที่ทั่วโลก
หินที่มีพลาสติกเป็นส่วนประกอบนี้ พบที่เกาะห่างไกล ห่างจากรัฐ เอสพิริโตซานโตของบราซิลไปทางตะวันออกเฉียงใต้ ราว 1,104 กิโลเมตร โดยการค้นพบครั้งนี้นับเป็นการค้นพบสุดสะพรึงที่พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า โลกเรากำลังปนเปื้อนด้วยพลาสติกในทุกอณู ไม่เว้นแม้แต่บนเกาะที่ห่างไกลจากผู้คน
โดยเกาะแห่งนี้เป็นสถานที่สำหรับการอนุรักษ์เต่าตนุที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เพราะแต่ละปีจะมีเต่าตนุหลายพันตัวว่ายน้ำมาวางไข่ที่เกาะซึ่งไม่มีคนอาศัยอยู่ โดยจะมีเพียงอาสาสมัครทหารจากกองทัพเรือบราซิลจำนวนหนึ่งเท่านั้น ที่ตั้งฐานอยู่บนเกาะเพื่อดูแลและปกป้องเต่าเหล่านี้ โดยหินพลาสติกที่นักวิจัยพบก็อยู่ในบริเวณที่ใกล้กับที่เต่าวางไข่ด้วย
...
เฟอร์นันดา อวีลาร์ ซานโตส นักธรณีวิทยา แห่งมหาวิทยาลัยกลางแห่งปารานา ระบุว่ามลพิษจากขยะในทะเล และพลาสติกที่ถูกทิ้งในมหาสมุทร ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของวัสดุทางธรณีวิทยา โดยมีการหลอมรวมกับทราย หิน เปลือกหอยและปะการัง ซึ่งสะท้อนถึงพิษภัยของพลาสติกที่แทรกซึมไปได้ทุกที่ทั่วโลก จนทำลายธรรมชาติโดยที่เราไม่รู้ตัว.
ที่มา : รอยเตอร์