ภาพเศรษฐกิจทั่วโลกในขณะนี้อยู่บนความเสี่ยงเส้นยาแดง ผ่าแปด วิกฤติพลังงาน วิกฤติสงคราม วิกฤติโรคระบาด ทำให้เศรษฐกิจโลกหดตัวจนไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์และมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเชิงนโยบายอย่างต่อเนื่องมากที่สุด

กรณี ธนาคารซิลิคอนวัลเลย์ SVB ประกาศผลการขาดทุนจากการจำหน่ายพันธบัตรและราคาหุ้นที่ปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง จนหน่วยงานกำกับดูแลการเงินของสหรัฐฯต้องสั่งปิดกิจการ ภาษาชาวบ้านคือ ปล่อยให้แบงก์ล้ม และกระทบกับนักลงทุนและธนาคารแห่งอื่นๆที่ตกอยู่ในสภาพเดียวกันด้วย ทำไมสหรัฐฯถึงปล่อยให้แบงก์ล้ม ไม่ยอมอุ้ม ไม่ยอมเข้ามาสนับสนุนในช่วงที่เศรษฐกิจสหรัฐฯอยู่ในช่วงขาลงอย่างหนักอยู่แล้ว

เรื่องนี้ มีหลายความเห็น ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ อดีต รมช.แรงงาน แสดงความคิดเห็นเอาไว้ดังนี้ ช่วงที่ธุรกิจสตาร์ตอัพได้รับความสนใจสูงสุด มีเงินฝากจำนวนมาก ธนาคารได้นำเงินไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐฯเป็นส่วนใหญ่ โดยไม่มีการกระจายความเสี่ยง

ช่วงสองปีที่ผ่านมา เฟดหรือธนาคารกลางสหรัฐฯ ใช้นโยบายขึ้นดอกเบี้ยเพื่อเอาชนะเงินเฟ้อ ทำให้มูลค่าของพันธบัตรรัฐบาลร่วงลงมาอย่างต่อเนื่อง และผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ลูกค้าถอนเงินนำไปใช้จ่ายมากขึ้น ธนาคารเลยต้องขายพันธบัตรในราคาขาดทุน เพื่อนำเงินไปเสริมสภาพคล่อง ในที่สุดแบงก์ขาดทุนจากการขายพันธบัตรถึง 2 พันล้านเหรียญ ยิ่งเป็นชนวนทำให้ลูกค้าแห่ไปถอนเงินกันมากกว่าเดิมจนขาดสภาพคล่อง และทำให้จำเป็นต้องสั่งปิดกิจการเอาไว้ก่อน

ความเสี่ยงดังกล่าวถึงจะมองดูว่า ไม่ขยายวงไปสู่วิกฤติการเงินรอบใหม่ แต่อะไรก็เกิดขึ้นได้ ถ้าวิกฤติเศรษฐกิจแย่ไปกว่านี้ และไม่มีการกระจายความเสี่ยงเอาไว้ล่วงหน้า ขนาดการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล ที่มีความเสี่ยงต่ำที่สุดก็ยังนำไปสู่การล้มของแบงก์ได้

...

เรื่องนี้กำลังจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ มีหลายแบงก์ประเภทเดียวกันกำลังตกในสภาพเดียวกัน โดยเฉพาะปัญหาความไม่เชื่อมั่น ผู้ก่อตั้งสตาร์ตอัพในสหรัฐฯ เริ่มตื่นตระหนกกับการบริหารจัดการด้านการเงินที่จะนำมาบริหารในกิจการตัวเอง และผู้ประกอบการสตาร์ตอัพเหล่านี้มีการไปลงทุนในประเทศต่างๆด้วย เช่น ที่อังกฤษ แคนาดา อินเดีย และจีน โดยเฉพาะ
ธุรกิจดิจิทัล และเงินสกุลดิจิทัล

SVB ในอังกฤษ วางแผนจะประกาศล้มละลายเช่นกัน พร้อมทั้งยุติการเทรดดิ้งและไม่รับลูกค้ารายใหม่ อุตสาหกรรมดิจิทัลชะลอตัวทันที SVB มีสาขาทั้งใน จีน เดนมาร์ก เยอรมนี อินเดีย อิสราเอล และ สวีเดน ถ้า SVB ล้มละลาย สตาร์ตอัพ ทั่วโลกจะมีผลกระทบแน่นอน

เป็นกรณีที่ต้องศึกษากับเหตุการณ์แบงก์ล้มที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ ซึ่งแม้จะป้องกันความเสี่ยงหรือมีความเสี่ยงต่ำซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนกับกรณีทรัพย์สินของรัฐ โดยเฉพาะพันธบัตรที่ออกโดยรัฐบาล ความแน่นอนกลายเป็นความไม่แน่นอน จากโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ได้รับความเสียหายจากวิกฤติต่างๆอย่างรุนแรงไม่มีอะไรไว้ใจได้อีกต่อไป.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th