มลภาวะทางอากาศทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นถึงระดับที่น่าตกใจในปี 2565 จนมีเพียง 13 ประเทศหรือดินแดนเท่านั้นที่คุณภาพอากาศจัดอยู่ในเกณฑ์ดี
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อ 14 มี.ค. 2566 ว่า รายงานใหม่ของของบริษัท IQAir ซึ่งคอยสังเกตการณ์คุณภาพอากาศทั่วโลกพบว่า กว่า 90% ของประเทศและดินแดนทั่วโลก มีค่าความหนาแน่นของ PM 2.5 หรือ ฝุ่นละอองขนาดจิ๋วที่มีขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน โดยเฉลี่ยต่อปี เกินกว่ามาตรการฐานที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนด
IQAir วิเคราะห์คุณภาพอากาศโดยเฉลี่ยของ 131 ประเทศและดินแดนทั่วโลก และพบว่ามีเพียง 6 ประเทศคือ ออสเตรเลีย, เอสโตเนีย, ฟินแลนด์, เกรนาดา, ไอซ์แลนด์ และนิวซีแลนด์ กับอีก 7 ดินแดนในแปซิฟิกกับแคริบเบียนซึ่งรวมถึง เกาะกวมกับเปอร์โตริโกเท่านั้น ที่มีคุณภาพอากาศ “ดี” หรือมี PM 2.5 เฉลี่ยไม่เกิน 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
ขณะที่ 7 ประเทศได้แก่ ชาด, อิรัก, ปากีสถาน, บาห์เรน, บังกลาเทศ, บูร์กินาฟาโซ, คูเวต และอินเดีย มีคุณภาพอากาศ “เลวร้าย” หรือมี PM 2.5 หนาแน่นเฉลี่ยสูงกว่า 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
รายงานของ IQAir มุ่งเน้นไปที่การตรวจวัด PM 2.5 ซึ่งเป็นสารมลพิษขนาดเล็กที่สุดแต่ก็อันตรายที่สุด เมื่อหายใจเข้าไปมันจะเดินทางลึกไปถึงเนื้อเยื่อปอด (lung tissue) ก่อนจะเข้าสู่กระแสเลือด ต้นกำเนิดของ PM 2.5 มาจากกระบวนการสันดาปของเชื้อเพลิงฟอสซิล, พายุฝุ่น หรือไฟป่า มีความเชื่อมโยงกับโรคมากมายเช่น หอบหืด, โรคหัวใจ และโรคทางเดินหายใจอื่นๆ
ตามการเปิดเผยของสหประชาชาติ ประชากรหลายล้านคนทั่วโลกเสียชีวิตจากปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับมลภาวะทางอากาศ โดยในปี 2559 มีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรอันมีสาเหตุเกี่ยวข้องกับ PM 2.5 ถึง 4.2 ล้านคน
...
รายงานของ IQAir เผยด้วยว่า หลายเมืองในสหรัฐฯ อย่าง โคลัมบัส, แอตแลนตา และชิคาโก มีค่าความหนาแน่นของ PM 2.5 เฉลี่ยต่อปีสูงกว่า 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งถือว่าคุณภาพอากาศไม่ดี
ขณะที่จีนซึ่งอยู่ในอันดับต้นๆ ของประเทศที่คุณภาพอากาศไม่ดีมาตลอดหลายทศวรรษ มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2565 เกือบ 64% จาก 524 เมืองในจีนแผ่นดินใหญ่ มีค่าความหนาแน่ของ PM 2.5 เฉลี่ยต่อปีลดลง แต่ IQAir เตือนว่า จีนยังมีการใช้ถ่านหินสูง ซึ่งเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม และไม่มีเมืองใดเลยที่อากาศจัดอยู่ในเกณฑ์ดี