กองกำลังป้องกันแห่งชาติกะเหรี่ยงแดง หรือ เคเอ็นดีเอฟ เปิดเผยว่า มีผู้เสียชีวิตกว่า 30 ศพ ในวัดแห่งหนึ่งในรัฐฉานของเมียนมา หลังทหารระดมยิงถล่มหมู่บ้านเพคอนเมื่อวันเสาร์
เมียนมาเกิดการสู้รบรุนแรงระหว่างทหารและกลุ่มติดอาวุธเพิ่มมากขึ้น นับตั้งแต่รัฐบาลทหารเข้ายึดอำนาจในการทำรัฐประหารเมื่อ 2 ปีก่อน โดยการสู้รบที่ดุเดือดที่สุดบางส่วนเกิดขึ้นในรัฐฉาน ซึ่งมีพรมแดนติดกับกรุงเนปิดอว์และประเทศไทย
เคเอ็นดีเอฟ ระบุว่า เมื่อวันเสาร์ กองทัพอากาศและปืนใหญ่ของรัฐบาลทหารบุกเข้าไปในหมู่บ้านหลังการระดมยิงเมื่อเวลาประมาณ 16.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น และสังหารชาวบ้านที่พวกเขาพบซ่อนตัวอยู่ในวัด โดยพลเรือนอย่างน้อย 30 คน และพระสงฆ์ 3 รูปถูกสังหาร
หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นคันทาราวดี ไทมส์ อ้างคำพูดของโฆษกเคเอ็นดีเอฟ ที่กล่าวว่า "มันเหมือนกับว่าทหารให้พวกเขาเข้าแถวหน้าวัด และยิงพวกเขาทั้งหมดอย่างโหดเหี้ยม รวมทั้งพระสงฆ์ด้วย"
วิดีโอที่เผยแพร่โดยเคเอ็นดีเอฟ ซึ่งเป็นหนึ่งในกองทัพของกลุ่มชาติพันธุ์ที่เข้าร่วมการต่อสู้กับรัฐบาลทหารเมียนมา แสดงให้เห็นศพอย่างน้อย 20 ศพ บางส่วนสวมจีวร กองเรียงอยู่ภายในวัด ศพมีบาดแผลถูกยิงหลายจุด วิดีโอยังแสดงให้เห็นผนังของวัดที่เต็มไปด้วยรูกระสุน ขณะที่อาคารและบ้านเรือนบางส่วนที่อยู่โดยรอบก็ถูกเผาเช่นกัน ซึ่งเคเอ็นดีเอฟกล่าวว่าเป็นการโจมตีของทหารในหมู่บ้าน
อย่างไรก็ตาม ยังคงไม่สามารถตรวจสอบรายละเอียดของเหตุการณ์ได้อย่างแน่ชัด แต่การโจมตีต่อพลเรือนที่ปราศจากอาวุธ ถือว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ในพื้นที่นี้ของเมียนมา ซึ่งมักเกิดการต่อต้านที่รุนแรงต่อรัฐบาลทหารเมียนมาบ่อยครั้งนับตั้งแต่การรัฐประหาร นอกจากนั้นยังมีรายงานการปฏิบัติการต่อเนื่องกับหมู่บ้านอื่นๆ ในพื้นที่ ซึ่งทำให้มีผู้พลัดถิ่นหลายพันคน
...
รัฐบาลทหารเมียนมาหวังที่จะจัดการเลือกตั้งในปีนี้ด้วยความเชื่อที่ว่าสิ่งนี้จะทำให้รัฐบาลของพวกเขาได้รับความชอบธรรม แต่ความล้มเหลวในการบดขยี้ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยต่อการปกครองของพวกเขา ที่รวมถึงการทิ้งระเบิดทางอากาศหลายครั้งในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ทำให้การจัดการเลือกตั้งแทบจะเป็นไปไม่ได้
พม่าตกอยู่ในสงครามกลางเมืองมานานหลายทศวรรษ ซึ่งลุกลามหลังการรัฐประหารในปี 2564 ส่งผลให้ผู้คนกว่า 1.5 ล้านคนต้องพลัดถิ่น บ้าน 40,000 หลังถูกทำลาย เด็ก 8 ล้านคนไม่ได้เรียนหนังสือ และสหประชาชาติคาดว่าประชาชนกว่า 15 ล้านคนกำลังเผชิญภาวะขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรง
จากข้อมูลของสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 2,900 คนในระหว่างการปราบปรามผู้เห็นต่างของรัฐบาลทหารเมียนมา.